วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อิสลามกับสิ่งเสพติด

อิสลามกับสิ่งเสพติด

ประวัติยาสูบ
ยาสูบ (Nicotiana tabacum) เป็นพืชพื้นเมืองของทวีป อเมริกาใต้ ตามปกติมีลำต้นสูงตั้งแต่ 1-2.5 เมตร ใบรียาว ประมาณ 90 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ดอกมีหลายสีตาม แต่ชนิด เช่น สีชมพู แดง ขาว และเหลือง เป็นต้น ดอกยาสูบเป็นดอกกะเทยเพราะมีเกสรตัวผู้และตัวเมีย ในดอกเดียวกัน ดังนั้น มันจึงสามารถแพร่พันธุ์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยแมลง ต้นยาสูบเจริญเติบโตได้ดีใน แทบทุกภูมิอากาศของโลก แต่ ณ เวลานี้ จีน อเมริกา ตุรกี บราซิล และรัสเซียกำลังครองความเป็นประเทศผู้นำในการปลูกยาสูบ

นักประวัติศาสตร์ได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อประมาณ 2,000 ปีแล้ว นักบวชชาวมายา (Maya) นิยมพักผ่อนด้วย การสูดดมควันที่ได้จากการเผาใบยาสูบแห้ง J. Cartier นักผจญภัยชาวฝรั่งเศสได้รายงานในปี พ.ศ. 2078 ว่า ชาวอินเดียนแดงนิยมสูดดมควันยาสูบ เพราะควันทำให้จิตใจ สงบสดใสและสมองปลอดโปร่ง เขาจึงได้นำต้นยาสูบไปปลูก เผยแพร่ในฝรั่งเศส และเมื่อ J. Nicot เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำโปรตุเกสได้ กราบทูลพระราชินี Catherine de Medicis ว่าควันยาสูบสามารถรักษาโรคร้าย ได้หลายชนิด การปลูกยาสูบจึงได้แพร่หลายไปทั่วโลก และเพื่อเป็นเกียรติแก่ Nicot นักชีววิทยาจึงได้ตั้งชื่อสกุลของต้นยาสูบว่า Nicotiana และใบยาสูบก็ได้ถูกแปรสภาพ เป็นไส้บุหรี่ให้ผู้คนสามารถสูบได้ อย่างสะดวกสบายในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2402 M. Bouisson ได้สังเกตเห็นว่า คนไข้ของเขาที่ป่วยเป็นมะเร็งที่ลำคอและปากล้วนเป็นคนที่สูบบุหรี่จัดทั้งสิ้น เขาจึงตั้งข้อสงสัยในคุณค่าการสูดดมควันบุหรี่ งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา ได้แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ระหว่างมะเร็งกับการสูบบุหรี่ว่า คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งที่ปาก กล่องเสียง มดลูก หลอดไต หลอดอาหาร กระเพาะ เต้านม ตับอ่อน ไต ลำไส้ใหญ่และเม็ดเลือดได้ สถิติที่ได้จากการสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า คนที่สูบบุหรี่จัดมักมีอายุสั้น เพราะป่วยด้วยโรค นานาชนิด และสำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด หากมีการสูบบุหรี่ด้วยก็จะมีโอกาสสูงในการเสียชีวิตยิ่งกว่าคนที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ แต่ไม่สูบบุหรี่เลยถึงสามเท่า

ณ วันนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พบแล้วว่า นอกจากบุหรี่จะมีนิโคติน (nicotine) ที่ทำให้คนสูบติดอย่างงอมแงมแล้ว บุหรี่ยังมีสารเคมี ที่เป็นพิษอีกมากมาย เช่น 4-aminobiphenyl ซึ่งสามารถทำให้คนสูบเป็นมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ nitroamines ที่มีประสิทธิ ภาพในการทำให้เกิดมะเร็งมากที่สุด hydrogen cyanide ที่ทำให้ปอดระคาย carbon monoxide ที่ทำให้ระดับออกซิเจน ในเลือดต่ำแล้วควันบุหรี่ยังมี benzo-a-pyrene ตะกั่ว polonium, benzene และ acrolein อีกด้วย ซึ่งสารเหล่านี้ต่างก็เป็น สารพิษทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เมื่อแพทย์ได้พบว่าผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่ มักเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด ในสมองแตก ผิวหนังเหี่ยวย่น ตาเป็นต้อ และถ้าคนที่สูบบุหรี่หกล้มกระดูกแตกหัก แผลกระดูกของเขาก็จะสมานช้า นอกจากนี้แพทย์ก็ยัง พบอีกว่า ควันบุหรี่ยังทำให้คนสูบเป็นโรคถุงลมปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานบกพร่อง และทารกที่คลอดจากสตรีที่สูบบุหรี่ก็มักมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าทารกของสตรีที่ไม่สูบบุหรี่เลย เท่านั้นยังไม่พอ สถิติที่ได้จากการสำรวจ ยังแสดงให้เห็นอีกว่า สตรีที่สูบบุหรี่มักจะมีปัญหาในการตั้งครรภ์และคลอดมากยิ่งกว่าสตรีที่ไม่สูบบุหรี่เลยอีกด้วย

ควันบุหรี่ใช่ว่าจะฆ่าเฉพาะคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น มันยังสามารถทำร้ายคนใกล้ชิดหรืออยู่ใกล้คนที่สูบอีกด้วย เพราะขณะนี้แพทย์มี หลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใกล้ชิดกับคนสูบสามารถทำให้ควันบุหรี่ที่มีละอองพิษผ่านเข้าไปทำร้ายเยื่อหุ้มปอด และเนื้อเยื่อในปอดของคนใกล้ชิดได้ ถึงแม้ว่าปริมาณควันพิษนั้น จะน้อยเพียง 1% ของคนสูบโดยตรงก็ตาม สถิติการตายของคน อเมริกันเพราะการสูดควันโดยทางอ้อมเช่นนี้มีมากถึง 3,000 คนต่อปี

เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว คนอเมริกันเสียชีวิตด้วยโรคที่มีสาเหตุจากบุหรี่ถึง 350,000 คนต่อปี ซึ่งนับว่าสูงเป็น 7 เท่าของจำนวน ผู้ที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ และมากเป็น 10 เท่าของคนที่ตายด้วยเอดส์ ณ วันนี้ คนอเมริกัน 50 ล้านคนสูบบุหรี่ นั่นก็หมายความว่า มีคน 4 แสนคนที่จะตายด้วยควันบุหรี่/ปี และเมื่อทั้งโลกมีคนสูบบุหรี่ 1,200 ล้านคน จำนวนคนที่จะต้องเสียชีวิตด้วยโรคบุหรี่ ก็อาจจะมากถึง 4 ล้านคน/ปี

ในการวิเคราะห์หาสาเหตุว่า เหตุใดคนจึงติดบุหรี่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าบุหรี่มีโทษมหันต์เช่นนี้ นักชีวเคมีได้พบว่า สาร nicotine ในใบยาสูบ เป็นตัวการสำคัญ บุหรี่ที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไปมีนิโคติน 4-4.5% และสาร nicotine นี้ หากเข้าไปในร่างกายของคนสูบ เพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำให้คนสูบติดบุหรี่ได้ทันที ข้อสรุปนี้ได้จากผลงานวิจัยของ D. Mc. Gehee แห่งมหาวิทยาลัย Chicago ที่ได้พบว่า สาร dopamine ที่เซลล์สมองหลั่งออกมาเวลาได้รับ nicotine ทำให้ร่างกายรู้สึกเป็นสุข ดังนั้น การได้รับ nicotine อย่างสม่ำเสมอจะทำให้คนคนนั้นติดบุหรี่ และถ้าเป็นผู้หญิงด้วยละก็ การติดบุหรี่จะง่ายยิ่งกว่าผู้ชาย ทั้งนี้เพราะ D. Kandel แห่ง New York State Psychiatric Institute ในสหรัฐอเมริกาได้พบว่า หากเขาทดลองให้ nicotine แก่ผู้หญิงและผู้ชายปริมาณเท่ากัน การมีปอดที่เล็กกว่า ทำให้ความเข้มแข็งของ nicotine ในร่างกายผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงติดบุหรี่ง่ายและเลิกบุหรี่ยาก สถิติการสำรวจในอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2542 ก็ได้ยืนยันเรื่องนี้ว่ามีสตรีอังกฤษ 12,765 คนที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด ซึ่งสูงยิ่งกว่า การตายด้วยโรคมะเร็งทรวงอก และสถิตินี้สูงกว่าสถิติปี 41 ถึง 36% ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มว่า สตรีกำลังติดบุหรี่มากขึ้น
ในการรณรงค์เพื่อไม่ให้สูบบุหรี่นั้น แพทย์ได้พบว่า คนที่ติดบุหรี่มากเวลาไม่ได้รับ nicotine จะกระสับกระส่าย มีสมาธิสั้น บ้างก็ นอนไม่หลับ และ 20 นาที หลังจากการอดบุหรี่ ความดันโลหิตจะลด ชีพจรจะเต้นช้าลง และเมื่อเวลาผ่านไป 8 ชั่วโมง ระดับออกซิเจน ในเลือดจะเพิ่มจนถึงระดับปกติ ในขณะเดียวกัน ระดับคาร์บอนมอนนอกไซด์จะลด และหลังจากที่หยุดสูบบุหรี่ 2 วัน ระบบความรู้สึก รับรสและกลิ่นต่างๆ จะทำงานดีขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน การเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำงานของปอดก็จะดีขึ้นด้วย และหากหยุดได้นาน 10 ปี โอกาสการเป็นโรคต่างๆ ก็จะลดลงได้ลงถึง 50% แต่การจะหยุดได้ถึงระดับนี้ คนที่ติดบุหรี่ต้องใช้ยา บวกความพยายาม ความตั้งใจ และความอดทนสูง เขาจึงจะเอาชนะยาเสพย์ติดชนิดนี้ได้
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น คนหลายคนหยุดบุหรี่ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะตั้งใจและพยายามสักปานใด เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ แพทย์หลายคนจึงมีความเห็นว่า เราน่าจะทำบุหรี่ให้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น ประดิษฐ์บุหรี่ที่ไร้สารมะเร็ง หรือใช้คลื่นไมโครเวฟ ฆ่าจุลินทรีย์ที่ผลิต nitrosamines เสีย แต่ก็มีหลายคนคิดว่า การทำเช่นนี้ไม่เป็นผลดี เพราะจะทำให้ผู้คนหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 P. Newhouse แห่งมหาวิทยาลัย Vermont ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่าถึงแม้บุหรี่ จะทำให้ร่างกายเป็นโรค แต่ nicotine ในบุหรี่สามารถเป็นยาสำหรับคนบางคนได้ เพราะเขาได้สังเกตเห็นว่าสาร nicotine ทำให้คนที่เป็นโรค Parkinson โรคจิตเภท โรค Alzheimer ฯลฯ ทำงานดีขึ้นเพราะในคนที่เป็นโรค Parkinson และ Alzheimer นั้น สมองขาด dopamine ดังนั้น การที่สมองหลั่ง dopamine เพราะถูก nicotine กระตุ้น ทำให้คนเป็น Alzheimer มีความจำดีขึ้นและร่างกายคนที่เป็น Parkinson ไม่กระตุกมาก เป็นต้น ดังนั้น จึงดูเสมือนว่า nicotine ที่ร้ายปานมัจจุราช อาจเป็น มิตรสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคบางโรคได้ และถ้าให้เลือกว่าจะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกับมัน ทั้งนี้ก็แล้วแต่บุคคล ซึ่งก็เหมือนกับกรณีฝิ่น นั่นแหละครับ เพราะถ้าสูบแล้วจะติดจนตัวตาย แต่คนไข้ไหนที่เป็นมะเร็งแล้วจะปฏิเสธฝิ่นบ้าง เวลาเจ็บมากๆ (ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน)


ทรรศนะอิสลามกับสิ่งเสพติด

ไม่มีตัวบทจากอัลกุรอานและอัลฮาดีษที่ชี้ขาดโดยตรงถึงเรื่องการ สูบบุหรี่ หรือการเสพ สิ่งเสพติด ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามหรือเป็นสิ่งอนุญาต แต่หลังจากที่ทำการค้นคว้าพบว่าสิ่งที่อยู่ในบุหรี่คือ นิโคติน ซึ่งเป็น สารเสพติด ที่ก่อให้เกิดการมึนเมา ดังนั้นสิ่งที่ทำให้เกิดการมึนเมา ถึงแม้ว่าจะน้อยก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติ อิสลาม เพราะได้มีรายงานจากท่านอีหม่ามอะฮฺมัดและท่านอีหม่ามอบูดาวุดว่า

عن أم سلمة رضي الله عنها قالت: (( نهى رسول الله صلى الله

عليه وسلم عن كل مسكر ومفتر)) رواه الإمامان أحمد وأبو داود.
ความว่า: รายงานจากพระนางอุมมุซาลามะฮฺ (รอฏิฯ) ซึ่งนางได้กล่าวว่า “ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ (ศ็อลฯ) ได้ห้ามจากทุก ๆ สิ่งที่ทำให้มึนเมาและขาดสติ”

และในเรื่องนี้ มีนักนิติศาสตร์อิสลามหลายท่านที่ให้ทัศนะต่าง ๆ กันไป บางท่านให้ทัศนะว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งมักโร๊ะไม่ใช่สิ่งต้องห้าม และผมเชื่อว่าผู้ที่ให้ทัศนะว่ามักโร๊ะนั้น อาจจะไม่รู้ถึงข้อแท้จริงในด้านของการแพทย์ และอาจจะไม่รู้ถึงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้และสั่งห้ามในอัลกุรอานและอัลฮาดีษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะยืนยันดังต่อไปนี้

1-การสูบหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองและผู้ที่อยู่รอบข้าง และยังเป็นอันตรายต่อครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ และกฎบัญญัติอิสลามได้กล่าวไว้ว่า (التحريم يتبع الضرر) “ข้อห้ามจะติดตามอันตรายมา” ทุก ๆ สิ่งที่เป็นอันตรายต่อตนเอง ผู้อื่น และทรัพย์สิน ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะการสั่งห้ามนั้นเป็นการป้องกันจากอันตราย ดังนั้นการสูบบุหรี่จึงเป็นสิ่งต้องห้าม

2- ท่านอิบนุอับบาสได้รายงานว่าท่านร่อซู้ล (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

(( لاضرر ولا ضرار ))

ความว่า: “ไม่มีการสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและไม่มีการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น”

ดังนั้นการสูบ บุหรี่ นั้นเป็นอันตรายกับตนเองและผู้อื่นด้วย และเนื่องจากอัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ) ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺบากอเราะฮฺโองการที่ 195 ว่า

﴿وَلاَ تُلْقُوْا بِأَيْدِيْكُمْ إِلَى التَّهْلُكَةِ﴾

ความว่า: “และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ”

3-การสูบบุหรี่เป็นการทำลายทรัพย์สิน และการทำลายทรัพย์เป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม เพราะท่านอีหม่ามบุคอรีย์ได้รายงานว่า

أنّ النبي محمدا صلى الله عليه وسلم قال:



((إنّ الله حرم عليكم إضاعة المال)) رواه البخارى.

ความว่า: แท้จริงท่านนบีมูฮำมัด (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงห้ามพวกท่านจากการทำลายทรัพย์สิน”

ดังนั้นการซื้อบุหรี่ไม่เพียงเป็นการทำลายทรัพย์สิน แต่ยังเป็นการทำลายตนเองและผู้อื่นด้วย และในภพหน้า (วันกิยามะฮฺ) เขาจะถูกถามถึงเรื่องดังกล่าว เพราะได้มีรายงานมาจากท่านอีหม่ามตีรมีซีว่า

عن الأسلمى أنّ رسول الله صلى الله عليه وسلم قال:

((لا تزول قدما عبد يوم القيامة حتى يسأل عن أربع:

عن عمره فيم أفناه ، وعن علمه فيم فعل به ، وعن ماله

من أين اكتسبه ، وفيم ضيعه ، وعن جسمه فيم أبلاه))

رواه الإمام الترمذى.

ความว่า: รายงานจากท่านอัลอัสลามีว่า แท้จริงท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺสองเท้าของบ่าวยังคงก้าวต่อไป จนกระทั้งเขาได้ถูกถามถึงสี่เรื่อง (หนึ่ง) จากอายุของเขา อะไรที่ทำลายอายุของเขา? (สอง) จากความรู้ของเขา อะไรที่เขาได้ปฏิบัติด้วยกับความรู้นั้น? (สาม) จากทรัพย์สินของเขา จากที่ไหนที่เขาได้แสวงหาทรัพย์สินนั้นมา? และอะไรที่ทำให้ทรัพย์นั้นหมดไป? (สี่) จากร่างกายของเขา อะไรที่ได้มาทดสอบร่างกายของเขา”

จากอัลฮาดีษนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าในภพหน้า (วันกิยามะฮฺ) อัลลอฮฺ(ซุบฮาฯ)จะทรงถามบ่าวของพระองค์ถึงสี่เรื่อง คือ

1-อายุ ด้วยกับคำถามที่ว่า ตายด้วยสาเหตุอะไร?
2-ความรู้ ด้วยกับคำถามที่ว่า นำความรู้ที่ได้มาปฏิบัติหรือไม่ และปฏิบัติอย่างไร?
3-ทรัพย์สิน ด้วยกับคำถามที่ว่า ได้ทรัพย์สินมาด้วยวิธีใด? และใช้จ่ายไปในเรื่องอะไรบ้าง?
4-ร่างกาย ด้วยกับคำถามที่ว่า ได้ถูกทดสอบอย่างไรบ้าง ในขณะมีชีวิตอยู่?

4-บุหรี่ ถือว่าเป็น ยาพิษ ชนิดหนึ่งที่บันทอนชีวิตมนุษย์ทีละน้อย ๆ จนท้ายที่สุดก็เริ่มมีอาการที่เห็นได้ชัด อิสลามได้สัญญาแก่ทุก ๆ คนที่ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย ด้วยกับวจนะของท่านร่อซู้ล (ศ็อลฯ) ที่ว่า

((من شرب سما فـقتل نفسه فهو يتحساه



في نار جهنم خالد مخلدا فيها))

ความว่า: “ผู้ใดที่ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย แน่นอนเขาจะได้ลิ้มรสของพิษดังกล่าวในนรกยะฮันนัมตลาดกาล”

5-กลิ่นของบุหรี่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จำเป็นที่เราจะต้องปลีกตัวออกห่างและไม่ให้เข้าไปป่นแปกับผู้สูบบุหรี่ เพราะการสูดกลิ่นบุหรี่นั้นเป็นการทำลายสุขภาพร่างกาย ท่านอีหม่ามบุคอรีย์และท่านอีหม่ามมุสลิมได้รายงานามาว่าท่านร่อซู้ลได้กล่าวไว้ว่า

((من أكل بصلا أو ثوما فليعتزلنا وليعتزل مسجدنا وليقعد في بيته))

ความว่า: “ผู้ใดกินหัวหอมหรือกระเทียม จงปลีกตัวออกห่างจากเรา และจงปลีกตัวออกห่างจากมัสยิดของเรา และจงเข้าไปนั่งในบ้านของเขา”

กลิ่นของบุหรี่มักโร๊ะฮฺและเป็นอันตรายไม่น้อยไปกว่ากลิ่นของหัวหอมและกระเทียมเลย และได้มีรายงานจากวจนะของท่านร่อซู้ลที่ว่า

((إنّ الملائكة تتأذى مما يتأذى منه الناس))

ความว่า: “แท้จริงมลาอีกะฮฺจะได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งที่มนุษย์ได้รับความเดือดร้อน”

6-เมื่อผู้เสพบุหรี่สงสัยว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่อิสลามห้ามหรือไม่ ก็จงทำความเข้าใจกับวจนะของท่านร่อซู้ล (ศ็อลฯ) นี้

((دع ما يريبك إلى ما لا يريبك))

ความว่า: “ท่านจงละทิ้งสิ่งที่ทำให้ท่านสงสัย (โดยมุ้งปฏิบัติ) ไปยังสิ่งที่ไม่ทำให้ท่านสงสัย”

ท่านร่อซู้ล (ศ็อลฯ) ได้สั่งให้เรามุสลิมออกห่างจากสิ่งที่คลุมเครือ โดยให้ละทิ้งสิ่งดังกล่าวและให้เลือกปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ทำให้เราเกิดความสงสัย

7-กระทรวงสาธารณะสุขโลก ได้ลงมติว่า นิโคตินที่อยู่ใน ยาเส้น เป็นสารที่ทำให้เกิดการมึนเมา และทุก ๆ สิ่งที่ทำให้เกิดการมึนเมาเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะเล็กน้อยไม่ทำให้เกิดการมึนเมาก็ตาม แต่เมื่อเสพเข้าไปมาก ๆ จะทำให้เกิดการมึนเมา

จากเจ็ดสาเหตุนี้ จึงตัดสินได้ว่าการสูบบุหรี่หรือสิ่งเสพติดอื่น ๆ เป็นสิ่งต้องห้ามตาม บทบัญญัติอิสลาม ไม่ใช้สิ่งมักโร๊ะฮฺ เพราะในแต่ละสาเหตุจากสาเหตุทั้งเจ็ดนี้ถูกอ้างอิงไปยังอัลกุรอานและอัลฮาดีษซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม.

โดย.. ดร. อะฮฺหมัด เชากีย์ อิบรอฮีม
แปลและเรียบเรียงโดย.. อะฮฺหมัด มุสตอฟา โต๊ะลง

ภารกิจของเยาวชน

ภารกิจของเยาวชน(มุสลิม)
เยาวชนถือเป็นวัยที่ทรงพลังของชีวิตมนุษย์ เปรียบเสมือนกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก หากไม่มีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพแล้ว แทนที่กระแสน้ำดังกล่าวจะเป็นแหล่งพลังงานอันมีค่าและเป็นต้นกำเนิดของทุกชีวิตแล้ว มันอาจกลายเป็นต้นเหตุแห่งความสูญเสียและสร้างความพินาศได้ ดังนั้นอิสลามจึงตระหนักและให้ความสำคัญกับเยาวชน โดยมอบหมายให้เยาวชนปฏิบัติภารกิจสำคัญ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. สร้างสำนึกแห่งความรับผิดชอบ
ภารกิจอันดับแรกของคนหนุ่มสาวมุสลิมคือ “การสร้างสำนึกแห่งความรับผิดชอบ” คือ พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อช่วงวัยชีวิตที่มีความสำคัญนี้ต่อหน้าอัลลอฮ์ และจะถูกสอบถามในวันกิยามะฮ์ถึง “อายุของเขาที่หมดไป ความหนุ่มของเขาที่ได้ใช้ไป” ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องเตรียมคำตอบต่อคำถามที่หนักหน่วงอันนี้ เขาได้ใช้เวลาปีแล้วปีเล่าไปอย่างไรบ้าง? ในช่วงชีวิตของวัยแห่งความมีชีวิตชีวา วัยแห่งความคึกคะนองได้ใช้ไปอย่างไร้ค่าหรือไม่? นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวเตือนคนหนุ่มสาวว่า
“จงฉกฉวยห้าประการแรก ก่อนห้าประการหลัง (จะตามมา) ความหนุ่มสาวของท่าน ก่อนวัยชรา สุขภาพที่ดีของท่าน ก่อนความเจ็บป่วย ฐานะที่ดีของท่าน ก่อนความยากจน การมีเวลาว่างของท่านก่อนที่ท่านจะมีงานยุ่ง การมีชีวิตที่ดีของท่านก่อนความตาย”
สิ่งแรกที่นะบีมุฮัมมัด ได้ให้คำเตือนคือให้ฉกฉวย “ความหนุ่มก่อนวัยชรา นี่คือ ความรับผิดชอบอันดับแรก เป็นภารกิจของหนุ่มสาวไม่ใช่วัยแห่งการละเล่นหรือวัยแห่งการระเริง จริงอยู่ว่าเป็นสิทธิที่มนุษย์ จะสนุก สร้างความรู้สึกที่สดชื่นมีชีวิตชีวาได้ในขอบเขตที่อิสลามอนุญาต แต่ไม่ได้มีความหมายว่า คนหนุ่มสาวจะต้องจมปลักอยู่กับเรื่องสนุกสนานเฮฮา เรื่องเสื่อมทรามทางศีลธรรม คนหนุ่มสาวเป็นช่วงชีวิตที่ต้องเป็น “ผู้ให้” มิใช่เป็นเพียง “ผู้รับ” หรือกลายเป็นสัญลักษณ์ของความวิตกกังวล และภาระของสังคมในการบำบัดรักษา เยียวยา

2. มีความภูมิใจต่ออิสลาม
ภารกิจข้อที่ 2 คือ การรู้สึกภาคภูมิใจต่ออิสลาม เขาต้องมีความศรัทธาอย่างสมบูรณ์ ศรัทธาต่อความยิ่งใหญ่ โดยที่อัลลอฮ์ ได้ให้เกียรติเขาด้วยคัมภีร์ที่ดีที่สุดที่ถูกประทานลงมา ด้วยนะบีที่ดีที่สุดที่ถูกส่งมา ด้วยระบอบที่ดีที่สุดที่ถูกบัญญัติให้แก่เขา
ด้วยเหตุนี้เขาต้องมีความภาคภูมิใจที่เขาเป็น “มุสลิม” ดังที่มุสลิมในยุคแรกมีความรู้สึกเช่นนั้น
“ความสูงส่งและเกียรติศักดิ์ศรี เป็นของอัลลอฮ์ เราะซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธา แต่ว่าพวกมุนาฟิกีนหารู้ไม่” (อัลกุรอาน 63: 8)
เมื่อสหายชาวเปอร์เซียของนะบีมุฮัมมัด ท่านซัลมาน อัลฟาริซีย์ ถูกถามว่า “ท่านเป็นบุตรของใคร?” ซึ่งผู้ถามต้องการจะสื่อความหมายว่า ท่านนั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเผ่าอาหรับ ท่านซัลมานสามารถตอบได้ว่า “ฉันเป็นบุตรแห่งเปอร์เซีย” หรือ “ฉันเป็นบุตรแห่งคุซโร” แต่ท่านซัลมานเลือกที่จะตอบว่า “ฉันเป็นบุตรแห่งอิสลาม”
เราต้องมีความรู้สึกภาคภูมิใจต่ออิสลาม ซึ่งอัลลอฮ์ ได้ใช้ศาสนานี้ในการสร้าง “ประชาชาติที่ดีที่สุด ที่ถูกนำออกมาสู่มนุษยชาติทั้งหลาย” และได้ใช้ศาสนานี้ในการสร้างประชาชาติให้มีลักษณะเป็น “ประชาชาติสายกลาง เพื่อเป็นพยานแก่มนุษยชาติ” ดังที่เราะซูล เป็นพยานแก่พวกเขา ซึ่งเราถูกเตรียมให้เป็นถึง “ครู” ของมนุษยชาติทั้งหมดเพื่อเป็น “พยาน” แก่พวกเขา เรา คือ “ครูของมนุษยชาติ” พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ มนุษยชาติทั้งหมดกำลังเรียกหาเราอยู่

เมื่อหันมาดูโลกตะวันตก เป็นความความจริงที่ว่าพวกเขาสามารถโบยบินไปในท้องฟ้าได้อย่างเสรี เสมือนนก สามารถแหวกว่ายและดำดิ่งลงสู่ท้องมหาสมุทรได้เสมือนปลา แต่ว่าพวกเขาไม่สามารถเดินบนหน้าแผ่นดินได้เหมือนมนุษย์ พวกเขาไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในตัวตน หรือระหว่างเขากับอัลลอฮ์ หรือระหว่างเขากับมนุษย์ เพราะพวกเขาจมปลักในลัทธิบูชาวัตถุที่อคติ พวกเขาได้กระทำสิ่งต่างๆ อย่างเกินขอบเขต พวกเขาต่างประสบกับความว่างเปล่าทางด้านอะกีดะฮ์ (หลักยึดมั่น) พวกเขาต้องเผชิญกับความทุกข์ความกังวลในจิตใจ ต้องพบกับปัญหาครอบครัวที่แตกแยก และต้องเจ็บปวดกับการล่มสลายของบุคลิกภาพและจรรยามารยาท และสังคมของพวกเขากำลังเดินไปสู่ทางที่หลงผิด กล่าวได้ว่าอารยธรรมของตะวันตกไม่ได้มอบความสุขที่แท้จริง ช่างประหลาดที่มนุษย์สามารถเดินทางไปถึงดวงจันทร์ แต่ไม่สามารถค้นหาความสุขบนพื้นโลกได้
พวกเขาต้องการ “สาสน์” ใหม่ “สาสน์” นี้จะให้ศรัทธาโดยไม่ได้ห้ามการเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ “สาสน์” นี้ให้ชีวิตในอาคิเราะฮ์ แต่ไม่ได้แยกชีวิตออกจากความเป็นจริงแห่งโลกนี้ “สาสน์” นี้ให้แนวคิดการเคารพภักดีที่แท้จริง โดยไม่ได้ห้ามที่จะเกี่ยวข้องสิ่งที่ดีในชีวิต เขาต้องการ “สาสน์” ที่ได้ดุลยภาพ มีความพอดี แน่นอนที่สุดว่า “สาสน์” แห่งดุลยภาพนี้มีอยู่ในการครอบครองของมุสลิม
ดังนั้นเป็นภาระหน้าที่ของมุสลิมที่จะต้องภูมิใจกับอัญมณีอันทรงคุณค่าที่อยู่ในการครอบครอง เราต้องรู้จักคุณค่าของตัวเราเอง นี่คือภาระกิจอีกข้อหนึ่งของบรรดาคนหนุ่มสาวมุสลิม

3. ทำความเข้าใจอิสลาม
ภารกิจข้อที่ 3 ของคนหนุ่มสาวคือ การทำความเข้าใจในอิสลาม ดั่งที่นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า
“ใครที่อัลลอฮ์ประสงค์ให้ได้รับความดี พระองค์ก็จะให้เขามีความเข้าใจในเรื่องของศาสนา”
ความภูมิใจต่ออิสลามนั้นยังไม่เพียงพอ เพียงแค่กล่าวว่า “เราคือมุสลิม” “เราคือประชาชาติที่ดีที่สุด” “เราคือประชาชาติสายกลาง” โดยที่ไม่มีความเข้าใจในศาสนาของตนเอง จึงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เราต้องทุ่มเทมุ่งมั่นเพื่อทำความเข้าใจต่อศาสนานี้ ตามความจริงที่ปรากฏอยู่
มุสลิมได้ผ่านยุคต่างๆ มีคนจำนวนมากได้บิดเบือนต่อหลักคำสอน เสมือนพวกเขาใส่เสื้อกลับด้าน ท่านอะมีรุลมุมินีน อลี ร.ฎ ได้กล่าวว่า “ผู้คนทั้งหลายทำให้ความเข้าใจ (ศาสนา) คลาดเคลื่อนพวกเขาแบ่งศาสนาออกเป็นส่วน ๆ พวกเขาทำมันเหมือนกับเนื้อที่เป็นก้อนๆ พวกเขาได้เฉือนมันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย”
อิสลามเป็นคำสอนที่สมบูรณ์ครบถ้วน ประกอบไปด้วยเรื่องของโลกนี้และโลกหน้า ประกอบไปด้วยเรื่องของสิทธิและภาระหน้าที่ มีทั้งส่วนที่เรียกว่า “ศาสนา” และส่วนที่เป็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อิสลามได้วางกฏหมายทั้งในเรื่องปัจเจกชน ครอบครัว สังคม รัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อิสลามคือ ระบอบที่สมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อให้มนุษย์ได้ดำเนินชีวิตได้ครบครัน แม้กระทั่งก่อนเกิด ตอนที่เขายังเป็น “ตัวอ่อน” ในครรภ์มารดา จนกระทั่งสิ้นชีวิตก็ยังมีกฏหมายว่าด้วยการจัดการศพ นี่คือคำสอนเพื่อมนุษยชาติมีรายละเอียดในทุกช่วงของชีวิตมนุษย์ นี่คือคำสอนเพื่อมนุษยชาติที่ปรากฏอยู่ในทุกด้านของชีวิตมนุษย์ ฉะนั้นเราจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำความเข้าใจอิสลามในรูปแบบที่สมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง และต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจอิสลาม และด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮ์ เรามีห้องสมุดอิสลามที่บรรจุหนังสือและตำราที่อธิบายคำสอน และต้องรู้จักเลือกสิ่งดีๆมาศึกษา เพราะหนังสือทุกเล่มที่นำมาวางอยู่ในตลาดไม่สามารถอ่านได้ทุกเล่ม หนังสือเหล่านี้มีที่เป็นฟองน้ำ มีทั้งที่เป็นคุณและให้โทษ มีทั้งที่เป็นยาพิษและโอสถ การรู้จักเลือกสิ่งที่ดีมาอ่านโดยอาศัยคำแนะนำของอุลามาอ์ที่เชื่อถือได้ นักปรัชญาคนหนึ่งได้กล่าวว่า “จงบอกมาซิว่าท่านอ่านหนังสืออะไร ฉันก็จะบอกได้ว่าท่านเป็นคนอย่างไร”
เยาวชนมุสลิมต้องมุ่งทำความเข้าใจอิสลาม ผ่านการอ่าน ผ่านการฟังบรรยายของบรรดาอุลามาอ์ต่างๆ และต้องแยกแยะให้ออกสิ่งที่เราอ่านและฟัง ระหว่างสิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควร เราต้องทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง จนกระทั่งสามารถเข้าไปสู่ศาสนาด้วยบะศีเราะฮ์ (หลักฐานที่ชัดเจน) มีความชัดเจนแจ่มแจ้งเกี่ยวกับเรื่องพระผู้เป็นเจ้า เรื่องของตนเอง ดั่งที่บรรดากัลป์ยาณชนยุคแรกได้กล่าวว่า “แท้จริงอิบาดะฮ์ที่ไม่มีความรู้และความเข้าใจ สร้างความเสื่อมเสียมากกว่าสร้างสรรค์” เราไม่สามารถปฏิบัติอิบาดะฮ์ให้บรรลุเป้าหมายของมันได้ เว้นแต่ด้วยความรู้ ซึ่งการขาดความรู้ อาจทำให้เราปฏิบัติ อิบาดะฮ์ไปพร้อมกับเรื่องบิดอะฮ์ (การอุตริในเรื่องศาสนา)และทุกๆ บิดอะฮ์ คือความหลงผิด และต้องแยกบัญญัติอิสลามที่อัลลอฮ์ กำหนด ออกจากสิ่งที่ไม่ใช่บัญญัติอิสลาม ต้องรู้จักอิสลามจนสามารถแยกระหว่างสิ่งที่เป็นซุนนะฮ์ออกจากสิ่งที่ไม่ใช่ซุนนะฮ์ รู้จักแยกแยะระหว่างสิ่งที่หะรอมและสิ่งที่หะลาล รู้จักแยกแยะสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิด เราไม่สามารถทำเช่นนี้ได้เว้นแต่เราต้องมีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอัลลอฮ์ และเราะซูล นี่คือภารกิจข้อที่ 3

4. จงเลือกเดินบนทางสายกลาง
ภารกิจข้อที่ 4 จงเลือกเดินบนทางสายกลาง ซึ่งเป็นแนวทางที่สมดุล แนวทางที่สมส่วนและพอดี ขอให้ออกห่างให้ไกลจากแนวทางที่สุดโต่ง และแนวทางที่คับแคบ อัลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า
“และชั้นฟ้านั้นพระองค์ทรงยกมันไว้สูง และทรงวาง ความสมดุล ไว้เพื่อพวกเจ้าจะไม่ละเมิดในเรื่อง ความสมดุล และจงดำรงการชั่งอย่างเที่ยงธรรม และอย่าให้ขาดหรือหย่อนในความสมดุล” (อัลกุรอาน55: 7-9)
แนวทางนี้ไม่ละเมิดออกจากขอบเขต หรือไปกำหนดให้มันคับแคบ ไม่มีการเกินเลย หรือไปจำกัดมันไม่มีการเลยเถิดเกินพอดี หรือไปปฏิเสธ นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“พวกท่านจงระวังความสุดโต่ง แท้จริงผู้คนก่อนหน้าพวกท่านได้พินาศไปแล้ว เนื่องจากความสุดโต่งในเรื่องศาสนา” (รายงานจากท่านอิบนุอับบาส)
มีรายงานจากท่านอิบนุ มัสอูด ซึ่งนะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า
“พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว”
พวกสุดโต่ง ได้แก่พวกที่กระทำเลยเถิดเกินที่กำหนดไว้ พวกเหล่านี้ได้ออกจากขอบเขตที่ศาสนาทำให้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยอัลกุรอานและซุนนะฮ์ เพราะฉะนั้น พวกที่ทำตัวเกินเลย คือกลุ่มที่จะพินาศ พวกที่ทำตัวสุดโต่ง คือกลุ่มที่จะพินาศ เรื่องนี้ท่านอะลี บิน อบี ฏอลิบ ได้กล่าวว่า “พวกท่านจงยึดทางสายกลาง ผู้ที่อยู่หลัง (หย่อนยาน) ต้องยึดมัน ส่วนผู้ที่เลยไปแล้วต้องหวนกลับ” ฉะนั้น พวกที่เฉื่อยชาต้องหันมายึดแนวทางนี้ ส่วนพวกที่รีบร้อนต้องหวนกลับมาหาแนวทางนี้คือ “แนวทางสายกลาง” ท่านอีหม่ามฮะซัน อัลบัศรีย์ ได้กล่าวว่า “ศาสนานี้อยู่ระหว่างพวกที่สุดโต่งกับพวกที่หย่อนยาน”
เราต้องการให้แนวทางสายกลาง เป็นแนวทางของประชาชาติสายกลาง เราต้องการให้คนหนุ่มสาวมีความเข้าใจอิสลาม แล้วอย่าได้ทำตัวเลยเถิด และในทางกลับกันอย่าทำตัวคับแคบเช่นกัน คนหนุ่มสาวของเราจงอย่าทำตัวเกินเลย ในทำนองเดียวกันอย่าปฏิเสธบางอย่างที่อัลลอฮ์ ทรงอนุมัติ
เราต้องการให้คนหนุ่มสาวละทิ้งท่าทีที่แข็งกร้าวในการดะวะฮ์ ขอให้พวกเขาสร้างงานดะวะฮ์โดยผ่าน “วิทยปัญญาและคำตักเตือนที่ดี” ดังที่อัลลอฮ์ ได้สั่งไว้ให้มีความนุ่มนวลและสุภาพ อัลลอฮ์ ได้กล่าวถึงเราะซูลของพระองค์ไว้ว่า
“และหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีจิตใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบ ๆ เจ้ากันแล้ว” (อัลกุรอาน 3:159)
เราปราถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างแนวทางที่สมดุลและมีความนุ่มนวล เมื่อความนุ่มนวลเข้ามาในเรื่องใด เรื่องนั้นก็จะถูกประดับประดาให้สวยงาม แต่เมื่อใดที่ความแข็งกร้าวเข้ามา เรื่องนั้นก็ถูกเมิน ดังที่ นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวแก่ท่านหญิงอาอีซะฮ์ เกี่ยวกับจุดยืนหนึ่งที่ท่านหญิงได้มีท่าทีที่แข็งกร้าวกับพวกยะฮูดีย์(ยิว) ซึ่งพวกนี้ได้จงใจสร้างความเจ็บใจให้แก่นะบีมุฮัมมัด โดยพวกเขากล่าวทักนะบีมุฮัมมัด ว่า “อัสซามุ อะลัยกะ ยา นะบีมุฮัมมัด” (หมายถึงความพินาศและความตายจงมีแด่ท่านโอ้มุฮัมมัด) ทำให้ท่านหญิงอาอีซะฮ์ตอบกลับไปว่า “อัซซามุและอัล-ละอ์นะฮ์ (การสาปแช่งและห่างไกลจากความเมตตา) จงประสบแก่พวกเจ้า ศัตรูของอัลลอฮ์” นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวต่อท่านหญิงว่า “โอ้ อาอิซะฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักความนุ่มนวลในการงานทุกประการ” ท่านหญิงอาอีซะฮ์กล่าวว่า “ท่านไม่ได้ยินในสิ่งที่พวกเขากล่าวหรือ นะบีมุฮัมมัดของอัลลอฮ์” นะบีมุฮัมมัด ตอบว่า “ฉันได้ยินแล้ว และฉันได้ตอบ (เพียงคำว่า) วะอะลัยกุม (และแก่พวกท่านก็เช่นเดียวกัน) ไปแล้ว” ดังนั้น เมื่อพวกเขากล่าว “อัซ-ซาม” หมายถึงความตายความพินาศจงมีแก่ท่าน ก็กล่าวตอบว่าแก่พวกท่านก็เช่นเดียวกันเป็นการเพียงพอแล้ว อัลลอฮ์ ได้กล่าวว่า
“แท้จริงเจ้าจะต้องตาย และแท้จริงพวกเขาจะต้องตาย” (อัลกุรอาน 39: 30)
“และเราไม่ได้ทำให้บุคคลใดก่อนหน้าเจ้าอยู่ยั่งยืนนาน หากเจ้าตายไป พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ยืนยงตลอดไปกระนั้นหรือ” (อัลกุรอาน 21: 34)
นี่แหละ คือบุคลิกของนะบีมุฮัมมัด ที่มีความนุ่มนวลและสุภาพแม้กระทั่งต่อศัตรูผู้หยิ่งยโส

5. ต้องเข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้ โดยการแปรเปลี่ยนสู่ชีวิตจริง
หลังจากที่ได้เข้าใจอิสลาม ผ่านการอ่าน การฟัง การเข้าร่วมงานวิชาการต่างๆ เราต้องถามต่อไปว่า อิสลามที่เรารับรู้ เป็นเพียงวัฒนธรรมในเชิงนามธรรม ที่เข้ามาเติมเต็มสู่สมองของมนุษย์ที่เป็นมุสลิมเท่านั้นเองหรือ? อิสลามเป็นเพียงการอ่านหนังสือและการชุมนุมทางวิชาการเท่านั้นเองหรือ? เราได้พบเห็นนักบูรพาคดีที่ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับอิสลามอย่างมากมาย (แต่พวกเขาก็ไม่ได้เป็นมุสลิม) ถึงตอนนี้ เราต้องยอมรับแล้วว่า ความรู้ ต้องควบคู่กับการปฏิบัติไปด้วย กลุ่มอายะฮ์แรกที่ถูกประทานลงมาได้แก่
ความว่า “จงอ่าน! ด้วยนามของผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงสร้างมนุษย์มาจากเลือดก้อน จงอ่าน! และผู้เป็นเจ้าของเจ้า ผู้ทรงเอื้อเฟื้อยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” (อัลกุรอาน96: 1-5)
กลุ่มอายะฮ์แรก สั่งให้อ่าน เพราะการอ่านเป็นกุญแจดอกสำคัญแห่งความรู้ แต่อัลลอฮ์ ได้ประทานกลุ่มอายะฮ์ถัดไปหลังจากนี้ได้แก่
“โอ้ผู้ห่มกาย จงลุกขึ้นและตักเตือน และแด่ผู้เป็นเจ้าของเจ้าจงให้ความยิ่งใหญ่ และแก่เสี้อผ้าของเจ้านั้นจงทำความสะอาด และสิ่งสกปรก ก็จงหลบหลีกให้ห่างเสีย และอย่างทำคุณ เพื่อหวังการตอบแทนอันมากมาย และแด่พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าเท่านั้น จงอดทน” (อัลกุรอาน 74 : 1-7)
กลุ่มอายะฮ์ถัดไปที่ตามมาเป็นครั้งที่สอง ได้สั่งใช้ให้เราลงสู่ภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้นความรู้ต้องอยู่พร้อมกับการปฏิบัติ ความรู้ที่เป็นเพียงทฤษฎีแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งที่จะพิสูจน์ในวันกิยามะฮ์ คือคำถามว่า “อะไรที่ท่านได้ทำไป?” ไม่ได้ถามว่า “ท่านมีความรู้มากมายแค่ไหน?” และ “มีดีกรีทางวิชาการระดับใดบ้าง?”
มนุษย์จะต้องแปรเปลี่ยนวิชาความรู้ให้เป็นการปฏิบัติ ความรู้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้มีชีวิตตามรูปแบบอิสลามที่ถูกต้องสมบูรณ์ และเจริญเติบโตขึ้น นี่คือภารกิจของมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่มสาวมุสลิม
ความรู้ต้องมีเพื่อการปฏิบัติ ความรู้ที่ไม่มีการกระทำเหมือนกับเมฆที่ก่อตัวแต่ไร้ฝน หรือเป็นพืชพันธุ์ที่งอกงามแต่ไม่ออกดอกออกผล ด้วยเหตุนี้เองท่านะบีมุฮัมมัด ได้ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮ์ ให้รอดพ้นจากความรู้ที่ไม่ยังประโยชน์ เพราะด้วยความรู้จะเกิดเป็นภาพสะท้อน เหมือนกระจกที่สะท้อนในสิ่งที่เรารู้จากศาสนา ส่วนคนที่อ่านและมีความเข้าใจแต่เขามีชีวิตที่ห่างไกลจากการปฏิบัติ เหมือนเขาอยู่ในหุบเขาหนึ่ง ส่วนความรู้ศาสนาเหมือนอยู่ในอีกหุบเขาหนึ่ง เขาได้แยกแยะระหว่างความรู้และความตั้งใจ ระหว่างปัญญาและความศรัทธา ระหว่างความคิดและความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมไม่เป็นที่ยอมรับ
เมื่ออัลลอฮ์ ได้กล่าวเกี่ยวกับหลักศรัทธาให้ในอัลกุรอาน อัลลอฮ์ ได้กล่าวในรูปของการปฏิบัติ ที่ประกอบมาเป็นการกระทำต่างๆ และจรรยามารยาท
“แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในละหมาดของพวกเขา และบรรดาผู้ที่ผินหลังให้เรื่องไร้สาระต่าง ๆ และบรรดาที่พวกเขาเป็นผู้บริจาคซะกาตและบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษา (ไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของ) ทวารของพวกเขา” (อัลกุรอาน 23: 1-5)
“และบรรดาที่พวกเขาเป็นผู้ที่เอาใจใส่ที่ได้รับมอบหมายของพวกเขา และสัญญาของพวกเขา และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาการละหมาดของพวกเขา” (อัลกุรอาน 23: 8-9)
“การกระทำ” เป็นสิ่งที่ต้องการจากคนหนุ่มสาวมุสลิม เราต้องการให้พวกเขาแปรเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่สร้างสรรค์ ตัวเขาเองได้รับประโยชน์จากความรู้นี้ สังคมก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน นี่คือภารกิจของคนหนุ่มสาว การอ่าน การฟังบรรยายจากบรรดาโต๊ะครูอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ถ้าหากเรายังไม่ปรับเปลี่ยนไปสู่การประพฤติและการแสดงออกโดยการปฏิบัติ
อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อความเมตตาแก่โลกทั้งผอง” (อัลกุรอาน 21: 107)
เราต้องการให้คนหนุ่มสาวเป็นกระจกในความความเมตตานี้ ดังที่อัลลอฮ์ได้ส่งนะบีมุฮัมมัด ซึ่งท่านได้กล่าวถึงตัวท่านว่า
“ฉันเป็นของกำนัลแห่งความเมตตา”

6. รับใช้สังคม
ภารกิจข้อต่อไป คือคนหนุ่มสาวต้องเข้าไปรับใช้สังคม ซึ่งเป็นงานที่ดี หลังจากที่ได้ปฏิรูปตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ ต้องหันมาสู่การรับใช้ผู้อื่น หันมาสู่การปฏิรูปผู้อื่น ต้องทำงานรับใช้สังคมที่อาศัยอยู่ สังคมต้องการความช่วยเหลือ สังคมต้องการความกระตือรือร้น อิสลามไม่อนุญาตให้ทำตัวอยู่บนหอคอยงาช้าง ถือว่าตนเองเป็น “ปัญญาชน” แต่ปล่อยให้มีคนที่ไม่รู้หนังสือ ขาดความรู้ หน้าที่ของพวกเขาต้องสอนหนังสือให้กับผู้ที่ไม่รู้ ต้องฝึกหัดคนว่างงานถ้าหากพวกเขามีความสามารถที่จะทำได้ ต้องชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้แก่ผู้คน ต้องเผยแผ่ให้คำตักเตือนแก่ผู้คน ให้เห็นถึงความจำเป็นในการรักษาความสะอาด หรือด้วยการนำสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งที่เป็นอัตรายออกจากท้องถนน หน้าที่ของคนหนุ่มสาวคือการลงไปสู่สังคม พัฒนาสังคมจากความไม่รู้ ให้ได้รับแสงสว่างจากความมืดมิด ให้สังคมรู้จักแนวทางที่ถูกต้อง
คนหนุ่มสาวจำนวนมากมีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า เป็นความไร้ค่าที่ไม่ได้สร้างประโยชน์แก่ใครเลย การอยู่ไปวันๆ เสมือนว่าเขากำลังทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขาต้องจัดการกับวันเวลาที่ไร้ค่าเหล่านี้ ด้วยการผลิตงานที่มีประโยชน์ และงอกเงยเป็นดอกเป็นผล คืองานรับใช้สังคม อิสลามถือว่างานชนิดไหนก็ตามที่รับใช้สังคมถือว่าเป็น “อิบาดะฮ์” การที่เรานำสิ่งขีดขวางทางจราจรออกจากถนนเป็นเศาะดะเกาะฮ์(การทำทาน) คำพูดที่ดีไพเราะถือว่าเป็นเศาะดะเกาะฮ์ การห้ามปรามจากความเลยร้ายถือว่าเป็นเศาะดะเกาะฮ์ การยิ้มให้กับพี่น้องถือว่าเป็นเศาะดะเกาะฮ์ งานชนิดไหนก็ตามที่ทำไปเพื่อช่วยเหลือสังคมถือว่าเป็นเศาะดะเกาะฮ์ การบริจาคหรือเศาะดะเกาะฮ์มิใช่แค่เรื่องของทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น ยังมีเศาะดะเกาะฮ์ที่เรียกว่า เศาะดะเกาะฮ์ทางสังคม เศาะดะเกาะฮ์ทางวัฒนธรรม เศาะดะเกาะฮ์ทางความรู้ ฉะนั้นมนุษย์ทุกคนสามารถจ่ายเศาะดะเกาะฮ์ได้ เพื่อรับใช้สังคมของเขา
ฉะนั้นจึงไม่มีสิทธิปฏิเสธการรับรู้ว่าสังคมยังขาดอะไรบ้าง? เราจะพัฒนาฟื้นฟูสังคม จนไปสู่ระดับที่ได้มาตรฐาน ทำให้สังคมยืนอยู่บนสถานะที่แท้จริงภายใต้แสงตะวันแห่งอิสลาม นี่คือภารกิจของคนหนุ่มสาวมุสลิม ที่เขาจะต้องครุ่นคิดเกี่ยวกับการรับใช้สังคม และการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

7. ก้าวมารับงานดะวะฮ์ (การเรียกร้องเชิญชวน)
ภารกิจข้อที่ 7 คือ การดะวะฮ์สังคมสู่อิสลาม ดั่งที่ได้ศึกษามา ดั่งที่ได้เข้าใจอิสลามอย่างถูกต้อง จึงจำเป็นที่เขาต้องให้ความรู้ความเข้าใจต่อคนอื่นๆ จำเป็นที่ต้องดะวะฮ์ผู้อื่นมาสู่อิสลาม จำเป็นที่ต้องทำงานเพื่ออิสลาม ดั่งที่ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่

การทำให้อิสลามปรากฏในภาพที่สวยงามในตัวเองนั้น ยังไม่เพียงพอ อิสลามได้วางภาระเหนือมุสลิมทุกคนในการดะวะฮ์คนอื่นมาสู่อิสลาม จงปฏิรูป(อิสลาฮ์)ตัวเองและออกไปดะวะฮ์คนอื่นๆ
อัลลอฮ์ได้กล่าวไว้ว่า
“และใครเล่าจะมีคำพูดดีเลิศยิ่งไปกว่าผู้เชิญชวน(ดะวะฮ์)ไปสู่อัลลอฮ์ และเขาปฏิบัติการงานที่ดี และเขากล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นอบน้อม” (อัลกุรอาน 41: 32)
มุสลิมทุกๆคนต้องตอบรับคำของอัลลอฮ์ ที่ว่า
“จงเรียกร้อง(ดะวะฮ์)ไปสู่แนวทางของผู้อภิบาลของเจ้าด้วยฮิกมะฮ์(วิทยปัญญา) และการตักเตือนที่ดี” (อัลกุรอาน 16: 125)
และนี่คือแถลงการณ์ของท่านนะบีมุฮัมมัด และเป็นแถลงการณ์ของประชาชาตินี้ อัลลอฮ์ ได้บอกให้เราะซูล ประกาศว่า
“จงกล่าวถึงเถิด(มุฮัมมัด) “นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้อง(ดะวะฮ์)ไปสู่อัลลอฮ์ บนบะศีเราะฮ์(หลักฐานที่ประจักษ์แจ้ง)ทั้งตัวฉันและผู้ปฎิบัติตามฉัน และมหาบริสุทธิ์แห่งอัลลอฮ์ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี” (อัลกรุอน 12: 108)
ขอย้ำถึงภารกิจนั้นอีกครั้งว่า
“ฉันเรียกร้อง(ดะวะฮ์)ไปสู่อัลลอฮ์ บนบะศีเราะฮ์(หลักฐานที่ประจักษ์แจ้ง)ทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน”
ถ้าเรานับตนเองเป็นผู้ที่ดำเนินตามนะบีมุฮัมมัด จำเป็นที่เราต้องทำงานดะวะฮ์ เรียกร้องผู้คนไปสู่อัลลอฮ์ เรียกผู้คนโดยอาศัย “บะศีเราะฮ์” (หลักฐานที่ประจักษ์ชัดแจ้ง) มุสลิมทุกคนต้อง เรียกร้องผู้คนไปสู่อัลลอฮ์ตามศักยภาพของแต่ละคน ตามลำดับความแตกต่างของมนุษย์ บางคนอาจจะทำงานโดยการเรียบเรียงหนังสือ บางคนอาจทำงานโดยการจัดปราศรัยบรรยายให้ความรู้ บางคนจัดอบรมต่างๆ บางคนประพฤติตัวเป็นแบบอย่างแก่คนอื่น บางคนใช้คำพูดที่ดีงาม ที่ถูกต้อง ด้วยการปลุกเร้ามนุษย์ให้กระทำความดี ทุกๆ คนต้องทำงานดะวะฮ์ตามกำลังความสามารถของตนเอง
พวกเราต้องเป็นผู้ เรียกร้องเชิญชวนไปสู่อิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาคนหนุ่มคมสาวทั้งหลาย ต้องเผยแพร่สาสน์แห่งอิสลามไปสู่คนภายในสังคม และคนอื่นๆที่ไม่ใช่มุสลิม
เราเป็นเจ้าของศาสนาที่เป็นสากล ศาสนาที่เป็นอมตะและเป็นศาสนาสุดท้าย แล้วเหตุใดเล่าที่เราไม่พยายามทำงานเพื่อศาสนานี้ เราต้องให้ความสนใจต่อกิจการในศาสนาของเรา โดยจัดกำลังคนเพื่อศาสนานี้ ก่อนที่เราจะส่งออกไปเผยแผ่สู่ชาวโลก ต้องจัดการเผยแผ่ในสังคมที่เราอาศัยอยู่เสียก่อน ต้องให้คำชี้แจงตักเตือนต่อมุสลิมทั้งหลาย ต้องนำบรรดามุสลิมกลับไปสู่อัลลอฮ์ ด้วยวิธีการที่งดงาม ต้องให้พวกเขายึดมั่นต่ออิสลามที่แท้จริง นี่คือภารกิจของมุสลิมโดยทั่วไป

ภารกิจของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนี้ เราไม่ต้องการคนหนุ่มที่ไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่า คนหนุ่มที่ออกไปตามถนนเพื่อพูดจาแทะโลมผู้หญิง หรือนั่งจับเข่าอยู่ที่บ้านเพื่อโทรศัพท์ติดต่อกับพวกผู้หญิง เหล่านี้เป็นคนหนุ่มที่ว่างเปล่า เราต้องการคนหนุ่มสาวที่ศรัทธา และมีความแข็งแกร่ง
“มุมินที่แข็งแกร่งย่อมดีกว่าและเป็นที่รักต่ออัลลอฮ์มากกว่ามุมินที่อ่อนแอ”
เราต้องการคนหนุ่มสาวที่แข็งแกร่งทั้งด้านความคิดความอ่าน แข็งแกร่งในเรื่องของศรัทธา แข็งแกร่งทั้งร่างกายและความตั้งใจที่แน่วแน่ แข็งแกร่งในวิญญาณ ความแข็งแกร่งเหล่านี้ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวของเรา

ครั้งหนึ่งท่านอะมีรุล มุมีนีน อุมัร อิบนุ อัล-ค็บฏฏอบ ร.ฎ. ได้มองเห็นคนหนุ่มคนหนึ่งกำลังละหมาดอยู่ในมัสยิด ท่านพบว่าเขามีอาการคอและศรีษะตก(ด้วยความสำรวม) ท่านได้กล่าวแก่เขาว่า
“โอ้ นี่ (เจ้าหนุ่ม) เจ้าอย่าทำให้ศาสนาของเราต้องตาย อัลลอฮ์ จะทำให้เจ้าตาย จงยกศีรษะของเจ้าขึ้นมา แท้จริงความคุซุอ์(ความสำรวม)นั่นอยู่ที่หัวใจ ไม่ได้อยู่ที่ต้นคอ”
ครั้งหนึ่ง เศาะฮาบะฮ์ที่เป็นสตรีนางหนึ่งได้เห็นคนหนุ่มสองคนกำลังเดินอยู่บนถนนเหมือนคนกำลังจะตาย นางถามว่า “พวกนี้เป็นใคร” มีคนตอบว่า “พวกนี้เป็นพวกที่อุทิศตน (เพื่อเข้าใกล้อัลลอฮ์)” นางจึงกล่าวแก่พวกเขาว่า “ท่านอุมัรนั้นเมื่อเดินก็จะเดินอย่างรวดเร็ว เมื่อพูดก็พูดจนคนได้ยิน เมื่อตีก็ตีจนเจ็บ และนี่คือคนที่เป็นนักอุทิศตน (เพื่ออัลลอฮ์) ที่แท้จริง” ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านอุมัรมี เป็นความแข็งแกร่ง เมื่อท่านพูด ท่านก็พูดจนคนได้ยิน เมื่อท่านเดินท่านก็เดินอย่างรวดเร็ว เมื่อท่านตีท่านก็ตีจนเจ็บ ท่านอุมัรนี่แหละที่ถือว่าเป็นผู้อุทิศตนต่ออัลลอฮ์ อย่างแท้จริง
เราต้องการให้คนหนุ่มสาวของเราเจริญรอยตามแบบอย่างนี้ ทั้งในการดำเนินชีวิต และการใช้ชีวิตเพื่ออิสลาม การเผยแผ่อิสลาม การให้ความรู้อิสลาม เราต้องการให้มีคนเช่นนี้เกิดขึ้นเพื่อความสูงส่งของอิสลาม

8. ติดอาวุธทางปัญญา
โลกมุสลิมถูกจัดเป็นโลกที่แตกต่างจากแต่ก่อน ซึ่งมีการเรียกว่า “โลกที่สาม” และประเทศมุสลิมบางประเทศหากมีโลกที่สี่ ก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ “ความไม่รู้หนังสือ” ได้ครอบคลุมส่วนใหญ่ของประเทศมุสลิม ที่สำคัญได้มีคนจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อว่า สาเหตุแห่งความล้าหลังเช่นนี้ มาจากอิสลาม ข้อกล่าวหานี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
มุสลิมในอดีตปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของความถูกต้อง อิสลามเป็นศาสนาที่แท้จริง พวกเขาเป็นประชาชาติอันดับหนึ่งหรือเป็นที่หนึ่งในโลกดุนยา ประมาณสิบกว่าศตวรรษที่มุสลิมเป็นผู้นำโลก โลกต้องมาศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของมุสลิม ภาษาอาหรับเป็นภาษาแห่งวิทยาการต่างๆ ชาวยุโรปคนใดก็ตามที่ต้องการเป็นผู้มีการศึกษา เป็นปัญญาชน หรือเป็นผู้ที่มีความก้าวหน้า เขาจะต้องพูดบางคำในภาษาของเขาด้วยภาษาอาหรับ เหมือนคนจำนวนมากในยุคนี้ เมื่อต้องการพูดจะเอาศัพท์ภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสเข้ามาผสมกับคำพูดด้วย เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาเป็นคนหัวก้าวหน้า เป็นคนที่มีการศึกษาและศิวิไลส์
นั่นคืออดีต และเราต้องกลับไปสู่สถานะอย่างเดิมให้ได้ และเราจะกลับไม่ได้เว้นแต่การสร้างความสมบูรณ์แบบในวิชาความรู้ และการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ไม่ใช่เพียงแค่วิชาความรู้ทางด้าน “ชะรีอะฮ์” เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงวิชาการทุกแขนงบนโลกนี้ จึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาศาสตร์แห่งความรู้ทุก ๆ ด้าน เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ดาราศาสตร์ พฤกษศาสตร์ เป็นต้น เราต้องกลับไปครอบครองวิทยปัญญาเหล่านี้อีกครั้ง มุสลิมทุกวันนี้ไม่ใช่คนที่โง่เขลา มีคนมากมายที่มีความสามารถโดดเด่น มีนักอัจฉริยะในทุกๆ ด้าน และเราหวังให้ลูกหลานได้เข้ามาอุทิศตนเพื่อแสวงหาความรู้ให้มากกว่าทุกวันนี้ บรรดาสลัฟได้กล่าวว่า “แท้จริงความรู้จะไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งแก่ท่าน จนกว่าท่านจะทุ่มเททุกส่วนของท่านให้กับมัน” ดังนั้นเราต้องเสียสละเพื่อหาความรู้ ด้วยความอุตสาหะ ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยการสละเวลา ด้วยการใช้สมองอย่างเต็มที่ และท่านจะได้รับเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะความรู้เหมือนกับมหาสมุทรที่ไม่มีชายฝั่ง ไม่มีขอบเขตที่กำหนดไว้ ดั่งที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ว่า
“และพวกท่านจะไม่มีความรู้ใด ๆ เว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (อัลกุรอาน17: 85)
เมื่ออยู่ในสนามจึงต้องแข่งขัน ต้องพยายาม มานะ บากบั่น ต่อสู้ดิ้นรน นี่คือภารกิจ จึงขอสั่งเสียให้คนหนุ่มสาวติดอาวุธทางปัญญา มนุษย์ทุกคนสามารถที่จะทำการอิบาดะฮ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยการเตรียมพร้อมจากการกระทำ นักศึกษาแพทย์ก็สามารถทำได้ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ก็สามารถทำได้ นักศึกษาฟิสิกส์ นักศึกษาเคมี นักศึกษาวิชาดาราศาสตร์ นักศึกษาด้านนิวเคลียร์ ก็สามารถรับใช้ศาสนาได้ โดยการแสวงหาความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าของเขา แสวงหาความเป็นเลิศในสาขาวิชาที่เล่าเรียน ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะด้านชะรีอะฮ์เท่านั้นที่นำไปสู่ความใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ มีคนจำนวนมากที่ศึกษาด้านชะรีอะฮ์แต่ห่างไกลจากอัลลอฮ์ เขาได้ใช้วิชาการที่เล่าเรียนมาในการรับใช้อารมณ์ของเขาเองและของคนอื่น แสวงหาความพึงพอใจจากผู้มีอำนาจ ผู้ปกครอง แสวงหาความพึงพอใจจากคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ ด้วยเหตุนี้ความรู้ที่มีอยู่เป็นความเลวร้ายสำหรับเขาเอง นั่นเป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ จำเป็นสำหรับคนหนุ่มสาวมุสลิมที่จะแสวงหาความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ ได้เตรียมความพร้อม ทำให้เส้นทางของเขาง่ายดาย และสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการญิฮาดอันยิ่งใหญ่ในหนทางของอัลลอฮ์ เป็นการ “อิบาดะฮ์” ต่ออัลลอฮ์ที่สำคัญยิ่ง นี่คือภารกิจของเยาวชนมุสลิมข้อที่ 8

9. ติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง
ภารกิจข้อที่ 9 คือ การติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง เชื่อมั่นต่อตนเองและหวังจากพระผู้เป็นเจ้า ความเชื่อมั่นต่อวันนี้และความมั่นใจต่อวันรุ่งขึ้น เราจะไม่หมดหวัง หมดอาลัย ไม่เบื่อหน่าย เหมือนกับคนจำนวนมากในยุคนี้ เราต้องยืนหยัดอย่างมั่นคง อย่าให้ความสิ้นหวังและความเบื่อหน่ายกัดกร่อนชีวิต เราต้องเป็นผู้เชื่อมั่นว่าวันพรุ่งนี้ย่อมดีกว่าวันนี้ เราต้องเชื่อมั่นว่าวันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน สิ่งที่เราปวดร้าวอยู่ทุกวันนี้คือการสิ้นหวัง การหมดอาลัยได้เกิดขึ้นต่อคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ขณะที่มีบางคนกล่าวแก่พวกเราว่า “ไม่มีประโยชน์แล้ว ประชาชาตินี้ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีกแล้ว สภาพของประชาชาติไม่มีวันดีขึ้นอีกแล้ว” พวกเขากล่าวว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้... การสิ้นหวังเป็นฆาตรกรที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก เพราะความรู้สึกนี้ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของมุสลิมที่แท้จริง
การสิ้นหวังเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกกับการปฏิเสธศรัทธา (กุฟร์) ความหมดอาลัยเป็นปรากฏการณ์ของความหลงทาง ดังที่อัลลอฮ์ ได้กล่าวว่า
“แท้จริงไม่มีผู้ใดเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮ์ เว้นแต่กลุ่มชนที่ปฏิเสธ” (อัลกุรอาน 12: 87)
อัลกุรอานได้กล่าวถึงคำพูดของนะบีอิบรอฮีม
“เขากล่าวว่า และจะไม่มีผู้ใดที่สิ้นหวังในพระเมตตาของพระเจ้าของเขา เว้นแต่ผู้ที่หลงผิด” (อัลกุรอาน 15: 56)
ไม่มีการสิ้นหวัง ไม่มีการหมดอาลัยสำหรับนะบีมุฮัมมัด และบรรดาผู้ศรัทธา พวกเขามีความหวังอยู่เสมอ ดังที่ได้เกิดขึ้นกับนะบีมุฮัมมัด ขณะที่ท่านทำหน้าที่ดะวะฮ์ในเมืองมักกะฮ์ ในขณะที่มุสลิมมีจำนวนน้อยนิดและอ่อนแอ พวกเขากลัวว่าจะถูกกวาดล้าง การทดสอบได้โถมใส่ในทุกด้าน แต่ขณะเดียวกันพวกเขากลับมีความเชื่อมั่นในการช่วยเหลือ พวกเขามีความเชื่อมั่นว่าธงแห่งการดะวะฮ์นี้จะสบัดพริ้ว อำนาจของมันจะสูงส่ง พวกเขาได้เรียกร้องผู้คนมาสู่อิสลามในช่วงเทศกาลแสวงบุญที่มักกะฮ์ และได้แสดงความยินดีเมื่อได้เข้ารับอิสลามว่าพวกเขาจะสืบทอดอาณาจักรของคุสโรและไกเซอร์ พวกเขาต้องถามกลับด้วยความประหลาดใจว่า “กุสโร บิน ฮุรมุซหรือ” ก็ได้รับคำตอบกลับว่า “ใช่ กุสโร บิน ฮุรมุซ”

มูฮัมมัด อัลฟาติห์ หรือมูฮัมมัด บิน มุรอด ผู้พิชิตนครคอนสแตนติโนเปิล เขาเป็นคนหนุ่มจากตระกูลอุษมานียะฮ์ ชาวเตอร์กเป็นผู้พิชิตนครแห่งนี้ ขณะที่มีอายุเพียง 23 ปี เขาพิชิตนครแห่งนี้ได้อย่างไร? ก่อนหน้ามีคนจำนวนมากเข้าโจมตีเพื่อพิชิตมัน แต่ก็ไม่สำเร็จ นับตั้งแต่สมัยของเศาะฮาบะฮ์มาแล้ว มูฮัมมัด อัลฟาติห์ คนหนุ่มผู้นี้ได้คิดและใคร่ครวญ เมื่อได้อ่านหะดีษบทหนึ่งที่รายงานโดยท่านฮากิมและคนอื่น ๆว่า
“แน่นอนเมืองคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิต ดังนั้นอะมีร (ผู้บัญชาการ) ที่ดียิ่งคือ อะมีรที่พิชิตเมืองนี้ กองทัพที่ดียิ่ง คือกองทัพที่พิชิตเมืองนี้”
หัวใจของมูฮัมมัด อัลฟาติห์ จึงผูกพันและใฝ่ฝันที่จะเป็นอะมีรคนนี้ กองทัพของเขาใฝ่ฝันที่จะได้เป็นกองทัพดังกล่าว เขาจึงคิดวางแผนพิจารณา และอัลลอฮ์ ได้ให้เขาพร้อมที่จะเข้าไปสร้างฝันให้เป็นจริง ในที่สุดกรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกพิชิตลง เรื่องราวที่เล่าขานเกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำมาเป็นบทเรียนหนึ่ง จากบทเรียนมากมายในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยที่ได้เข้าไปในเมืองนั้นและทำให้เมืองนั้นกลายมาเป็นเมืองหลวงแห่งอิสลามในอีกหลายศตวรรษ และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “อิสลามบูล” หรือ “อิสตันบูล” ที่เราเรียกกันอยู่ทุกวันนี้
อุซามะฮ์ บิน ซัยด์ ขณะที่นะบีมุฮัมมัด ได้แต่งตั้งเขาเป็นแม่ทัพเพื่อทำสงครามกับกองกำลังอันเกรียงไกรของอาณาจักรโรม เขามีอายุเพียง 18 ปี ทั้งที่ในกองทัพนั้นมีผู้อาวุโสจำนวนมากจากบรรดาเศาะฮาบะฮ์ ที่นะบีมุฮัมมัด ทำอย่างนี้เพราะว่าท่านต้องการฝึกฝนคนหนุ่มสาวในการก้าวเข้ามาแบกรับภารกิจความรับผิดชอบ ด้วยการติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นให้แก่พวกเขา
ในขณะที่ท่านนะบีมุฮัมมัด อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์ ท่านได้ให้ท่าน อลี บิน อบี ฏอลิบ มานอนแทนที่ท่าน ซึ่งต้องเผชิญกับอันตราย แล้วได้มอบหมายให้ท่านอลีคืนของฝากต่างๆ ให้แก่เจ้าของ ถึงแม้ว่าพวกมุชรีกีนจะเป็นศัตรู และขัดแย้งกับท่าน แต่พวกนั้นยังไว้ใจท่านให้ดูแลสิ่งมีค่าต่างๆ จากทรัพย์สินของพวกเขา โดยได้มอบสิ่งของเหล่านั้นให้ท่านนะบีเก็บรักษา และนะบีมุฮัมมัด ไม่เคยพูดว่า “กลุ่มชนพวกนี้ ได้ขับไล่ฉันออกจากบ้านของฉัน ไล่ส่งฉันออกจากครอบครัวของฉัน ดังนั้นฉันก็ริบเอาทรัพย์ของพวกเขาได้” ตรงกันข้าม ท่านกลับแต่งตั้งท่านอลี (ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่ง) ทำหน้าที่คืนทรัพย์สินและของมีค่าต่างๆ รวมไปถึงสิ่งที่ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแล คืนสู่เจ้าของ ของมัน
นะบีมุฮัมมัด ยังได้มอบหมายให้อัสมา บุตรสาว ของท่านอบูบักร ผู้มีฉายาว่า “เจ้าของสองเข็มขัด” โดยให้นำอาหารไปให้และแจ้งข่าวให้ทราบขณะที่นะบีมุฮัมมัด พร้อมด้วยท่านอบูบักรต้องหลบซ่อนจากการไล่ล่าของชาวกุร็อยช์ ในช่วงที่ทั้งสองได้อพยพสู่นครมะดีนะฮ์ ผ่านถ้ำที่มีทางเดินที่ยากลำบากเกินกว่าหญิงสาวจะเดินทางไปถึงอย่างสะดวก แต่หญิงสาวผู้นี้สามารถเดินไปถึงที่นั่นทุกวัน ท่ามกลางภยันตรายและการตรวจสอบอย่างแน่นหนาของกลุ่มผู้ไล่ล่า

บรรดาเศาะฮาบะฮ์ได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจอีกมากมาย ดังเช่น ที่นะบีมุฮัมมัด ได้ส่งท่าน มุอาซ บิน ญะบัล ให้ออกไปเผยแผ่อิสลามที่ประเทศเยเมน ทั้งที่มุอาซอายุยังไม่ถึง 30 ปี ท่านเคยแต่งตั้งท่านอุตตาบ บิน อุซัยด์ ให้เป็นอะมีรของมักกะฮ์ทั้งที่เขาอายุ 20 เศษ ๆ
ท่านอุมัร บิน ค็อฏฏอบได้ให้คนหนุ่มเข้าร่วมในสภาบริหารของท่าน เพื่อให้คนหนุ่มสาวได้ประโยชน์จากความคิดความอ่าน ความมุ่งมั่นของผู้ใหญ่ ดั่งที่ท่านได้กล่าวแก่อิบนุอับบาสว่า “ท่านมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ โอ้ อิบนุ อับบาส จงพูดเถิด อย่าให้ความอ่อนวัยของท่าน เป็นตัวสกัดไม่ให้ท่านพูด”
ด้วยเหตุนี้ คนหนุ่มสาวต้องติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง เราพบว่าอีมามชาฟิอีย์ ได้เปิดสอนแก่สาธารณชนและให้คำฟัตวา(คำวินิจฉัยประเด็นศาสนา) ทั้งที่ท่านอายุได้ไม่ถึง 20 ปี ท่านได้เสียชีวิตขณะที่โลกเต็มไปด้วยความรู้ของท่าน ขณะที่ท่านมีอายุได้ 54 ปีเท่านั้นเอง
ท่านอีมามนะวาวีย์ ได้ทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยวิทยาการ ความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงวิชาหะดีษและประวัติศาสตร์ ขณะที่ท่านเสียชีวิตอายุ 40 ปีต้น ๆ เท่านั้นเอง
เราจึงต้องติดอาวุธแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง
10. ร่วมมือกันระหว่างพี่น้องมุสลิม
ภารกิจข้อที่ 10 สำหรับคนหนุ่มสาว ได้แก่ การทำงานผูกพันและร่วมมือกันระหว่างพี่น้องมุสลิม การทำงานเพียงลำพังในการรับใช้ศาสนานี้ไม่เพียงพอ การทำงานเพียงคนเดียวนั้นจะตกเป็นเหยื่ออันโอชะของหมาป่าที่เข้าไปขย้ำแกะที่หลงฝูง คนที่ชอบเดินทางในซอยเปลี่ยวตามลำพัง มักจะตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชน จงตัดสินใจเข้าร่วมกับพี่น้องมุสลิม จงวางมือของเราลงบนมือของคนดีในหมู่พวกเขา จงช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้องในเรื่องของความดีและความยำเกรง อัลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า
“และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮ์ โดยพร้อมเพรียง” (อัลกุรอาน 3:103)
นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวไว้ว่า
“ผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธานั้น เสมือนกับอาคารที่ส่วนหนึ่งต้องยึดส่วนหนึ่งเอาไว้”
“มือของอัลลอฮ์อยู่ร่วมกับญะมาอะฮ์(การทำงานในองค์กร)”
ใครที่แยกตัวออกไปจากองค์กร เท่ากับแยกตัวไปสู่ไฟนรก ชัยฏอนจะอยู่กับคนที่อยู่ตามลำพัง เมื่อมีสองคน มันจะเริ่มออกห่าง นี่คือคำสอนของนะบีมุฮัมมัด จงอย่าอยู่คนเดียว เราจะประสบกับความทุกข์ใจ ความวิตกกังวล แนวคิดและมายาคติต่างๆ จะไหลเข้ามาหลอกหลอน ความหลงใหลจะเข้าไปมีอำนาจเหนือเรา จงอยู่กับพี่น้องมุสลิมแล้วจะมีพลังที่มากขึ้น การอยู่คนเดียวจะอ่อนแอ เราจะเข้มแข็งก็ต่อเมื่อได้เข้าร่วมกับพี่น้องเป็นญะมาอะฮ์ สิ่งนี้เองที่อัล-กุรอานได้ระบุไว้ว่า
“ขอสาบานด้วยเวลาแท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน ยกเว้น บรรดาผู้ศรัทธา และประกอบการดี และกระชับระหว่างกันด้วยสัจธรรม และกระชับระหว่างกันด้วยความอดทน” (อัลกุรอาน103: 1-3)
อัลกุรอานไม่กล่าวว่า إلا الذى آمن وعمل صالحا “ยกเว้นผู้ศรัทธาและทำความดี” ซึ่งเป็นในลักษณะคนเดียว(เอกพจน์) เพราะว่าต้องการให้ภาพของมนุษย์ที่รอดพ้นจากความขาดทุน เข้าร่วมกับญะมาอะฮ์ إلا الذين آمنوا “เว้นแต่ บรรดาผู้ที่ศรัทธา” ญะมาอะฮ์ คือความรอดพ้น “เว้นแต่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดี และกระชับระหว่างกันในเรื่องสัจธรรม” คำอธิบายในทางภาษาถือว่าเป็นการกระทำระหว่างสองฝ่าย หมายถึง ให้คำเตือนกับคนหนึ่งเกี่ยวกับสัจธรรม และคนนั้นจะรับคำเตือนแห่งสัจธรรมนั้นไป จึงไม่ได้มีคนใดที่ต่ำต้อยเกินไปที่จะตักเตือนคนอื่น และไม่มีใครที่มีฐานะสูงเกินไปกว่าที่จะถูกคนอื่นเตือน นี่คือความหมายของคำว่า “กระชับระหว่างกัน” “กระชับระหว่างกันในเรื่องของสัจธรรมและกระชับระหว่างกันในเรื่องของความอดทน”
การตักเตือนกำชับกันในเรื่องของ “ความอดทน” เกี่ยวพันกับการตักเตือนซึ่งกันและกันในเรื่องของ “สัจธรรม” เพราะว่าสัจธรรมเป็นภาระที่หนัก เส้นทางแห่งสัจธรรมไม่ได้โรยไปด้วยดอกกุหลาบ แต่โรยไปด้วยขวากหนาม เป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยร่างที่ไร้วิญญาณและการพลี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องปักหลักปักฐานตัวเองลงสู่ญะมาอะฮ์ที่ดี
เราต้องการเห็นคนหนุ่มสาวร่วมมือช่วยเหลือกัน ระหว่างผู้ศรัทธาที่ประกอบคุณงามความดี ด้วยเหตุนี้เองที่ในยุคของเราได้รู้จักสมาคมต่างๆ ผู้คนหันมาทำงานกันในรูปแบบของสมาคม บางส่วนหนึ่งได้สร้างความเข้มแข็ง และเสริมพลังซึ่งกันและกัน อย่างที่ควรจะเป็น ขอให้อยู่กับพี่น้องที่ดีของเราเสมอ
อิสลามได้บัญญัติเรื่องญะมาอะฮ์ไว้ และทำให้ละหมาดญะมาอะฮ์ประเสริฐกว่าละหมาดคนเดียวถึง 27 เท่า คำสอนนี้ได้ฝังวิญญาณแห่งความเป็นญะมาอะฮ์ลงสู่เรือนร่างของผู้ศรัทธา อิสลามได้ฝังความรู้สึกและ วิธีคิดแบบญะมาอะฮ์ เช่นเดียวกันเมื่อมุสลิมคนหนึ่งได้สนทนากับพระผู้เป็นเจ้าได้อ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ แม้จะอ่านเพียงคนเดียวในบ้านตามลำพัง ก็จะกล่าวว่า “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เขาขออิบาดะฮ์ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ” จะกล่าวด้วยประโยคที่แสดงถึงความเป็นญะมาอะฮ์ เพราะว่าญะมาอะฮ์นั้นได้อยู่ในสำนึกของเขาให้รู้ว่าเขาเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของเรือนร่าง เขาเป็นคนหนึ่งในกองคาราวาน เขาจึงสนทนากับพระผู้เป็นเจ้าด้วยรูปแบบญะมาอะฮ์ “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขออิบาดะฮ์ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ” แม้แต่การขอดุอาอ์ก็ขอด้วยรูปแบบญะมาอะฮ์ “ขอพระองค์ชี้นำเราไปสู่ทางที่เที่ยงตรง” ไม่มีการขอ “ฮิดายะฮ์” เพียงแค่ตัวเองเท่านั้น แต่จะขอให้ผู้ศรัทธาทั้งหมด โดยรวมตัวของเขาอยู่ในกลุ่ม เพื่อว่าอาจมีอุปสรรคต่างๆ ที่ดุอาอ์ของเขาไม่ถูกตอบรับ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มผู้ศรัทธาแล้ว หวังว่าอัลลอฮ์ จะตอบรับร่วมกับพวกเขา “โปรดชี้นำเราสู่แนวทางอันเที่ยงตรง” นี่คือภารกิจข้อที่ 10
.
.
เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ
http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=4&id=982
เยาวชนที่รัก…อะไรคือภารกิจของท่าน ?

โดย เยาวชนแห่งสัจธรรม


สังคมปัจจุบันได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสังคมแห่งยุคอารยะที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ คุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้รับการพัฒนาในอัตราที่สูงขึ้น คนมีการศึกษาดีขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจวบจนถึงปัจจุบันนี้มนุษย์มักจะอ้างผลงานและมีความภูมิใจกับสิ่งเหล่านี้ โดยที่ปกปิดหรือละเลยสิ่งที่เขาได้ก่อขึ้นในอีกด้านหนึ่งนั่นคือ ผลกระทบในด้านลบที่มีวิวัฒนาการควบคู่ไปกับ‘ความเจริญ’ และในขณะที่ความเจริญกำลังก้าวรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง จะมีสักกี่คนที่มองเห็นปรากฏการณ์ของ‘ความเสื่อม’ ที่กำลังเดินทางควบคู่กันจนอาจกล่าวได้ว่าเป็น‘เงานำตัว’อย่างไม่ลดละเช่นกัน

เยาวชนที่รัก..... ท่านมองเห็นหรือไม่ว่า ในอีกมิติหนึ่งที่ผู้คนโดยทั่วไปไม่สังเกตเห็นหรือไม่ตระหนักถึงคือความเหลวแหลกฟอนเฟะของสังคมในยุคปัจจุบัน หากเรามองในระดับของสังคมทั่วไปจะพบว่าเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการปฏิเสธศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและการฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระองค์ คนในสังคมตกอยู่ในความมืด จริยธรรมถูกย่ำยี สังคมเต็มไปด้วยความสกปรกทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม

และเมื่อกลับมามองภายในสังคมมุสลิม เราจะเห็นสภาพของสังคมที่ขาดเอกภาพ เต็มไปด้วยสภาพของความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างมุสลิม ทั้งปัญหาเคร่ง-ไม่เคร่ง ปัญหามุสลิมสายกลาง-มุสลิมสุดโต่ง ตลอดจนปัญหาเชื้อชาติที่แตกต่างกันที่ล้วนปรากฏให้เห็นในทุกระดับของสังคมตั้งแต่ระดับย่อยถึงระดับใหญ่ สิ่งเหล่านี้ยังคงดำรงและดำเนินอยู่ทั้ง ๆ ที่ประชาคมมุสลิมกำลังถูกรุมเร้าโดยสังคมรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศัตรูของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นที่บอสเนีย โคโซโว ปาเลสไตน์ อิรัก แคชมีร เชชเนีย อัฟกานิสถานหรือในสถานที่อื่น ๆ พี่น้องมุสลิมต้องประสบกับความทุกข์ยาก ถูกอธรรมและถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี มุสลิมะห์จำนวนมากต้องตั้งท้องเพราะถูกข่มขืนโดยผู้รุกราน จำนวนไม่น้อยที่ถูกสังหารหมู่และเข่นฆ่าเหมือนผักปลา บ้างก็ถูกขับไล่ให้ออกจากบ้านเรือนและดินแดนของตน บ้างก็บ้านเรือนถูกระเบิดถล่มจนราบเป็นหน้ากลอง พี่น้องหลายคนไม่มีแม้แต่ที่จะให้ซุกหัวนอน ไม่มีผ้าห่มในคืนที่อากาศหนาวเหน็บ ไม่มีอาหารและน้ำดื่มในยามที่หิวกระหาย หรือไม่มีแม้กระทั่ง...ความห่วงใยจากพี่น้องมุสลิม ณ ที่อื่น ๆ สภาพดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชาติมุสลิมในวันนี้

หากจะถามว่าปัญหาเหล่านี้เป็นภารกิจของใครที่จะต้องก้าวเข้ามาช่วยแก้ไขแน่นอน คำตอบคือ เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุก ๆ คน โดยไม่จำกัดเพศและวัย แต่วัยที่ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ในโลกได้จารึกไว้ว่าเป็นวัยที่มีศักยภาพมากที่สุด คือ วัยหนุ่มสาว แต่สภาพของเยาวชนคนหนุ่มสาวในปัจจุบันที่ปรากฏให้เห็นคือ การใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ใช้พลังที่มีอยู่ไปกับความสนุกสนานและสิ่งที่ไร้แก่นสาร และแทนที่หนุ่มสาวจะเป็นความหวังในการปฏิรูปสังคมดังเช่นในอดีต กลับเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับสังคม เป็นภาระที่ต้องตามแก้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่นตีกัน ตลอดจนการมีลูกโดยไม่ต้องการและปล่อยให้สังคมต้องรับภาระ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สังคมจะมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และใครเล่าจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคม จะมีสักกี่คนที่พร้อมต่อการรับภารกิจอันมีเกียรตินี้

โอ้เยาวชนที่รัก.... จงพิจารณาดูเถิด ว่าตัวของท่านกำลังยืนอยู่ ณ จุดใดของสังคม จุดที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา จุดที่เพิกเฉยไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น รอคอยจนกระทั่งได้รับผลกระทบ หรืออยู่ในจุดที่ตระหนักถึงปัญหาและกำลังทำงานอย่างแข็งขัน
โอ้เยาวชนที่รัก.... จงตรองดูเถิด ว่าอะไรคือเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ของท่าน และสิ่งที่ท่านเป็นอยู่ทำให้ท่านมั่นใจได้หรือยัง ว่าจะได้พบกับเป้าหมายดังกล่าว?
http://www.fityatulhaq.net/forum/index.php?topic=296.0


กิจกรรมกับชีวิตของนักศึกษามุสลิม

กิจกรรมคือการกระทำที่แสดงถึงการเคลื่อนไหว และการยังคงมีอยู่ ดังนั้นมนุษย์จะปราศจากกิจกรรมก็ต่อเมื่อชีวิตจบลง กิจกรรมมีหลายรูปแบบ แตกต่างไปตามวัย และสิ่งแวดล้อม สำหรับการเป็นนักศึกษา กิจกรรมถือเป็นการสร้าง ?คนคุณภาพ?ให้เกิดขึ้นในสังคม
เจตนารมณ์ของอิสลามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมว่าต้องมีอยู่ตลอดเวลา เช่น

- ละหมาดทั้งชีวิต แม้ว่าต้อง นั่ง นอน ทำสัญญาณตามอิริยาบท
- ให้มีหมู่คณะหนึ่งเชิญชวนสู่ความดี ยับยั้งความชั่ว กลุ่มชนนี้แหละมีชัยชนะ
- มนุษย์ที่ประเสริฐสุด คือผู้ที่ชีวิตของเขาเป็นประโยชน์แก่สังคม

สำหรับนักศึกษาผู้มีจิตสำนึก และศรัทธาเชื่อมั่นว่าอัลลอฮคือ ?พระผู้อภิบาลสูงสุด? แล้วกิจกรรมถือเป็นภารกิจหนึ่ง ที่จะทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับร่มเงาของพระองค์ และเป็นคะแนนสะสมเสริมด้านอิบาดะห์-การภักดี ที่รอประกาศผลในวันกิยามะห์

คนมีคุณภาพส่วนใหญ่ล้วนเคยมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในสมัยที่เป็นนักศึกษา เขาจะกลายเป็นแกนนำทางสังคม การศึกษา สื่อมวลชน มีบทบาททางการเมือง และการปกครอง เพราะผลของกิจกรรมได้บ่มเพาะทักษะ และพัฒนาศักยภาพมาอย่างเข้มข้นก่อนเข้าสู่ถนนชีวิต

หลักของการปฏิรูปการศึกษาได้นำกิจกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถม ดังนั้นถ้านักศึกษาไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม คงจะ ?ตามหลังเด็กรุ่นใหม่?แน่นอน ในฐานะนักศึกษาผู้เป็นมุสลิมควรจะมีบทบาททางกิจกรรมอย่างไร

ก. เข้าร่วมทุกชมรมกิจกรรมที่มีในสถาบัน
ข. เข้าร่วมกิจกรรมของชมรมมุสลิมเป็นแกนหลัก
ค. เข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่ม-ชมรมที่ตนสนใจ
ง. ควรเป็นข้อ ข และข้อ ค

เหตุที่นักศึกษาต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชมรมมุสลิมเป็นอันดับแรก เพื่อให้สอดรับกับหลักการอิสลามดังนี้

มุสลิมต้องละหมาดครบ 5 เวลา และละหมาดรวมกันประเสริฐกว่า 27 เท่า

ผู้ศรัทธาเป็นพี่น้องกัน และยึด ?สายเชือกแห่งอัล-อิสลาม?ของอัลลอฮ ซ.บ.

อิสลามนั้นคือหนึ่งเดียวที่จะได้รับการตอบรับเข้าสู่สวรรค์อันแท้จริง

การเข้าร่วมกับกลุ่มกิจกรรมอื่น ขึ้นอยู่กับความสนใจและไปกันได้กับทักษะความสามารถของตนเอง โดยมีหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งคือ ต้องไม่ทำให้ ?ความเป็นมุสลิม?ของเขาถูกกลืนละลายไปกับกระแสวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทักษะความสามารถที่ได้มานั้นจึงจะสร้างความจำเริญให้แก่ชีวิต

รูปแบบกิจกรรมที่ควรริเริ่ม แบ่งเป็น กิจกรรมภายใน และภายนอก นักศึกษาน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์คิดลักษณะกิจกรรมได้อย่าง ?ไร้ขีดจำกัด? เพียงมีเงื่อนไขว่าต้องสอดคล้องกับหลักการอิสลาม ซึ่งหลักสำคัญก็จะเป็นการประสานงาน สร้างความเข้าใจ ให้การช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น

กิจกรรมภายใน
.
กิจกรรมภายนอก
.

มีการละหมาดร่วมกัน เยี่ยมองค์กรมุสลิมต่างสถาบัน
รับน้องใหม่มุสลิม นิทรรศการสร้างความเข้าใจอิสลาม
จัดกลุ่มศึกษาอิสลามต่อเนื่อง ค่ายอาสาพัฒนาชุมชนมุสลิม
ติววิชาเรียน จัดทำจุลสาร-เว็บไซต์เผยแพร่
จัดละศีลอดร่วมกัน กีฬาเชื่อมสัมพันธ์องค์กรมุสลิม
กีฬาเชื่อมสัมพันธ์ชั้นปี จัดอภิปรายสาระอิสลามทั่วไป
จัดให้ความรู้เกี่ยวกับอิสลาม ออกร้านการกุศลงานสถาบันมุสลิม
ระบบทะเบียน-ห้องสมุดอิสลาม พิทักษ์และเชิดชูหลักการอิสลาม
กลวิธีการหาทุน ประสานกับองค์กรทั่วๆไปทั้งใน-นอก


การดำเนินกิจกรรม คือแบบฝึกและ ?ห้องจำลองของการบริหาร? และจัดการองค์กรที่นักศึกษาจะได้นำทฤษฎีมาใช้ มีการแบ่งหน้าที่ จัดโครงสร้าง วางแผน และเตรียมโครงการ โดยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา มีความเข้าใจธรรมชาติ และความแตกต่างของคน ซึ่งเป็นประสบการณ์ พื้นฐานทำงานในชีวิตจริง

ทุกชีวิตต้องมีปัญหา รวมถึงการเรียน การทำงานและกิจกรรม ?รู้จักจัดการกับปัญหา? ด้วยความคิดที่ดี มีความตั้งใจ และอดทน จะทำให้เราอยู่อย่างมีความสุขมากกว่าจมอยู่กับความทุกข์ท้อ การดำเนินกิจกรรมสำหรับองค์กรมุสลิมควรมีแนวทางหลักดังนี้

มีสำนึกรักษาละหมาดและความเป็นมุสลิม โดยไม่แยกรายละเอียดวิธีปฏิบัติศาสนกิจ

สร้างความรักความเป็นพี่น้องในฐานะผู้ศรัทธาโดยช่วยเหลือกันในรูปแบบหมู่คณะ

มีความคิด ความเข้าใจแก่นแท้ของอิสลาม เพื่อการปฏิบัติ และเป็นภาพลักษณ์ที่ดี

โดยทั่วไปภาพของกิจกรรมมุสลิมถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเคร่งครัดศาสนา ซึ่งความจริงการปฏิบัติตนอยู่ในคำสอนอิสลามเป็นเพียง ?รักษาการเป็นมุสลิม? เท่านั้น คนที่เขาเพิ่มเติมอิบาดะห์ส่วนตัว อย่างเต็มที่ และหลีกห่างเรื่องไร้สาระต่างหากที่ควรจะเรียกว่าเป็น ?ผู้เคร่งครัด?

นักศึกษามักอ้างว่า การเข้าร่วมกิจกรรมชมรมกระทบต่อการเรียน ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะร่วมกิจกรรมประเภทใดก็มีผลต่อการเรียนได้ทั้งสิ้น ถ้าไม่รู้จักบริหารเวลา หลายคนไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกลับมีผลการเรียนตกต่ำ หรือ ?ไปไม่ถึงดวงดาว? เพราะเวลาหายไปกับ ?กิจกรรมส่วนตัว? และคนสนิท

นักศึกษาที่มุ่งเรียนอย่างเดียวไม่เข้าร่วมกิจกรรม ถ้าเรียนเก่ง ก็จะมีแต่วิชาการ แต่ขาดทักษะการอยู่ร่วมกับมนุษย์โลก ถ้าเรียนปานกลางหรืออ่อน ก็ยิ่งขาดศักยภาพที่จะนำไปใช้ในสังคมและชีวิตได้

กิจกรรมจะช่วย "ฉายแวว" หรือเพิ่มพูนความสามารถของนักศึกษา นำไปสู่การพัฒนาให้สูงส่งยิ่งขึ้นได้ เช่น การประชุม เสนอความคิดเห็น แลกเปลี่ยนทัศนะ วางแผนงาน หลักมนุษยสัมพันธ์ ติดต่อประสานงาน เหล่านี้มีให้จากการร่วมกิจกรรม ไม่สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า

นักศึกษาจะได้ฝึกการเป็นผู้นำ ความกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้อิสลามก็มีกรอบไว้ว่านักศึกษาหญิงจะต้องระวังบทบาทอย่าให้ ?ล้ำหน้า? ได้ คอยกระตุ้นส่งเสริมเป็น ?กองหนุน? เติมฝันกำลังใจให้นักศึกษาชาย ผู้นำที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมไม่มีทางจะหาได้ คัดสรรจากเท่าที่มีอยู่ในองค์กรก็พอแล้ว

ผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมของชมรมมุสลิมควรมีเจตนาที่สอดรับกับหลักการอิสลาม มิฉะนั้นผลที่ตามมาจะกระทบต่อชีวิตและส่วนรวมได้ เจตนาที่ควรมี คือ

เพื่อบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ในสิ่งที่ตนมีทักษะความสามารถ

เพื่อมุ่งขัดเกลาพัฒนาตนเองให้อยู่ในกรอบคำสอนของอิสลาม

เพื่อสร้างความรักความเป็นพี่น้องกับผู้ศรัทธาจากการได้พบปะรู้จักกัน

นักศึกษาควรหลอมกิจกรรมกับการเรียนให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ ชีวิตในสถาบันอุดมศึกษาจะสามารถประยุกต์เข้ากับชีวิตจริงได้ถ้าเขาได้ผ่านประสบการณ์ทางกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมในแนวทางอิสลามด้วยแล้ว ?อัลลอฮจะทรงชี้ทาง? ให้แก่เขาเอง

ในฐานะเป็นผู้มีความคิด และภูมิปัญญาอยู่ในระดับสูง ควรเพิ่มเติมและขยายความคิดอิสลามที่ถูกต้องก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะปัจจุบันมีแนวคิดจากวัฒนธรรมต่างๆมากมายที่ขัดกับอิสลาม หรือแฝงเข้ามาในรูปของอิสลาม ถ้าไม่เข้าใจถ่องแท้แล้ว ชีวิตก็จะเดินผิดเส้นทางไปไกลแสนไกล

แนวคิดหนึ่งที่นักศึกษามุสลิมต้องรู้ซึ้ง คือ ?ความสำเร็จของชีวิต? ในทัศนะอิสลามคือประพฤติตนอยู่ในหลักการของอัลลอฮ ซ.บ. ชั่วชีวิต ทุกคนสามารถสร้างฐานะจากอาชีพการงาน ใช้เทคโนโลยีสร้างความเจริญแก่สังคมได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะอยู่ในสถานภาพใด การคิด การกระทำ การใช้ ต้องเป็นไปตามหลักการอิสลาม หาไม่แล้วทุกสิ่งที่ทุ่มเทลงไปบนโลกใบนี้ก็คือความสูญเปล่าและส่งผลร้ายแก่ตนเองในอาคิเราะห์.
http://www.cicot.or.th/main/content.php?page=sub&category=9&id=23

กิจกรรมในรูปแบบอิสลาม

ชีวิตมุสลิมนอกจากรับผิดชอบต่ออัลลอฮในทางส่วนตัว (ฟัรดูอีน) แล้ว ยังต้องมีส่วนรับผิดชอบในความเป็นอยู่ของสังคมด้วย (ฟัรดูกิฟายะห์) การมีส่วนร่วมในชุมชนเชิงสร้างสรรค์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักการอิสลาม ซึ่งเรียกว่า ”กิจกรรมทางสังคม” (Social Activity)

กิจกรรมที่พบเห็นในสังคมทั่วไปมีหลายรูปแบบ ในที่นี้จะขีดวงพิจารณาเฉพาะกิจกรรมที่สอดคล้องกับชารีอะห์อิสลามเท่านั้น เพราะอิสลามเป็นระบอบแห่งการดำเนินชีวิต (The Way of Life) ดังนั้นกิจกรรมของสังคมมุสลิม จึงต้องอยู่ในกรอบหลักการของอิสลาม



องค์กรกับกิจกรรม

กิจกรรมทางสังคมจะมีความเกี่ยวข้องกับองค์กร นั่นคือเริ่มจากการคิดค้นทำงานร่วมกันของคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป องค์กรทางสังคมมีหลายแบบ ที่พบเห็นทั่วไป คือ กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ โรงเรียน สหพันธ์ สมาพันธ์ สภา และศูนย์รวมของชุมชนมุสลิม คือ มัสยิด

แม้องค์กรส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสาธารณกุศล ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อิสลามสนับสนุน แต่รูปแบบการดำเนินงานก็อาจมีสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลามได้ ดังนั้นจึงต้องรู้ว่ากิจกรรมใดที่อิสลามส่งเสริมและห้าม ซึ่งอาจพอสรุปได้ดังนี้

กิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับอิสลาม

มีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ประเพณีของศาสนาอื่น

มีลักษณะของมหรสพ การบันเทิงเริงรมย์ เกี่ยวข้องกับอบายมุข การพนัน

มีส่วนผสมของสิ่งที่ต้องห้ามในอิสลาม การทุจริต ติดสินบน

มีการปะปนระหว่างหญิงชาย มีการแต่งกายเปิดเผยสิ่งพึงสงวนตามหลักการ

มีการกระทำที่ผิดข้อห้ามของอิสลามอย่างโจ่งแจ้ง การทำลายความสามัคคี

บทบัญญัติของอิสลามมีความเข้มงวดครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งผู้มีอีมานศรัทธาจะปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องใช้วิทยปัญญาในการคิด และสร้างสรรค์กิจกรรมให้ชุมชนหรือสังคมมุสลิมมีความถูกต้องมากที่สุด และยังต้องให้เป็นที่น่าสนใจดึงดูดผู้คนด้วย ซึ่งการคิดฝ่าฝืนทำกิจกรรมที่ขัดกับหลักการอิสลามนั้น เป็นการไม่กลัวอัลลอฮและดูถูกภูมิปัญญาตนเอง

กิจกรรมในปัจจุบัน

กิจกรรมนั้นมีได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ภายในคือกิจกรรมที่เน้นความสัมพันธ์และการช่วยเหลือสมาชิก ภายนอกคือการเปิดโอกาสให้ผู้คนมารับรู้ แลกเปลี่ยนหรือเยี่ยมชมกิจการของเรา เพื่อแสดงถึงพลังของสมาชิกในองค์กร

กิจกรรมที่อยู่ในขอบเขตของอิสลามนับเป็นเรื่องท้าทายสติปัญญาและความสามารถของคนในองค์กรอย่างยิ่ง ที่จะต้องคิดและวางรูปแบบให้ถูกต้องตามหลักการศาสนา และมีเสน่ห์น่าสนใจแก่ผู้พบเห็นด้วย ปัจจุบันกิจกรรมหลักๆที่อยู่ในหลักการอิสลามพอสรุปได้ดังนี้

การบรรยาย อภิปรายวิชาการศาสนาอิสลาม

การทดสอบทักษะความสามารถเยาวชน

การอ่าน-ท่องจำพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

การอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน

กลุ่มชมรมอาสาสมัครเพื่อพัฒนาชุมชนมุสลิม

ชมรมมุสลิมในหน่วยงาน สถานศึกษา

อย่างไรก็ตามมีหลายองค์กรมุสลิมที่สามารถคิดสร้างสรรค์กิจกรรมเพิ่มเติมได้อย่างน่าสนใจและอยู่ในหลักการอิสลาม อาทิเช่น

กิจกรรมสำหรับกลุ่มสตรีมุสลิมโดยเฉพาะ (มุสลิมะห์)

กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุมุสลิม

กิจกรรมสำหรับผู้ที่ยอมเข้ามารับอิสลาม (มุอัลลัฟ-มุอัลละฟะห์)

กิจกรรมเปิดมัสยิด องค์กรสาขาในเครือข่ายตนเอง

กิจกรรมจัดคณะไปเที่ยวและชมงานสถาบันองค์กรมุสลิม

กิจกรรมประสานและรวบรวมมุสลิมตามเขตภูมิภาค

กิจกรรมบรรเทาสาธารณภัยและขนย้ายผู้ป่วย-ศพมุสลิม

กิจกรรมสื่อสิ่งพิมพ์มุสลิม (เป็นธุรกิจได้)

กิจกรรมสื่อสารทางวิทยุกระจายเสียงเพื่อมุสลิม (เป็นธุรกิจได้)

กิจกรรมสื่อสารอิเล็คโทรนิคส์ ในระบบอินเตอร์เน็ทเพื่ออิสลาม

กิจกรรมโทรทัศน์เพื่อมุสลิม (เป็นธุรกิจได้)

กิจกรรมรวมกลุ่มประสานองค์กรมุสลิม

กิจกรรมรวมกลุ่มเฉพาะอาชีพของวงการมุสลิม

สำหรับกิจกรรมประกวดด้านต่างๆ นับว่าเป็นการสร้างความน่าสนใจ และพยายามฉีกรูปแบบออกไป แต่ควรพิจารณาถึงความเหมาะสม เนื้อหาสาระที่จะได้แก่ผู้มาร่วมงาน และพยายามอย่าให้เหมือนกับกิจกรรมศาสนาอื่น



การคิดรูปแบบกิจกรรม

เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมในสังคมมุสลิมมีความหลากหลายน่าสนใจและถูกต้องตามหลักการของอิสลาม จึงน่าที่จะช่วยกันคิดรูปแบบที่เป็นไปได้ โดยใช้กิจกรรมที่ดำเนินอยู่เป็นแนว และปรับแก้กิจกรรมที่ผิดหลักการศาสนาออกไปจากระบบของสังคม

ต้องยอมรับความจริงว่า เรายังไม่สามารถนำหลักการอิสลามมาใช้ได้เต็มรูปแบบ สังคมที่ยังมีการปะปนระหว่างหญิงชาย และสิ่งหะรอมยังเป็นที่นิยมของสังคมทั่วไป แต่เราก็ต้องพยายามจัดรูปแบบกิจกรรมที่เข้าใกล้หลักการของอัลลอฮมากที่สุด

เราอาจสอบถามผู้รู้ทางศาสนาอิสลามได้ว่ากิจกรรมที่คิดค้นขึ้นมานั้นอยู่ในขอบเขตหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรศึกษาหาความรู้ในอิสลามให้แนบแน่น มีหลักศรัทธา(อะกีดะห์)ที่เข้มแข็ง เพื่อจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ แยกแยะความถูก-ผิดและกรองรูปแบบโดยตนเองได้ด้วย

กิจกรรมที่อยู่ในขอบเขต
กิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง

1. บรรยายสาระอิสลาม 1. บรรยายโจมตีทำลายสังคม
2. ขับร้องนาซีดที่ไร้ชิ้นดนตรี 2. จัดดนตรี ลิเก ลำตัด ตลก หนัง
3. จัดทำเทปบรรยาย 3. จัดทำเทปเพลง
4. อินเตอร์เน็ทเผยแพร่อิสลาม 4. อินเตอร์เน็ทลามก เวทีไร้สาระ
5. สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อมุสลิม 5. สื่อรับใช้องค์กร พรรค
6. กลุ่มชมรมอาสาสมัคร 6. กลุ่มชมรมเพื่อผลประโยชน์
7. กลุ่มชมรมมุสลิมะห์ 7. กลุ่มมุสลิมะห์ที่แต่งกายผิดหลักการ
8. งานการกุศลเพื่อมัสยิด 8. มีมหรสพควบคู่ในงานมัสยิด
9. งานสถาบันการศึกษา 9. สถาบันศึกษามีประกวดที่ไร้สาระ
10. งานหารายได้ให้องค์กร
10. รายได้มาจากสิ่งขัดกับอิสลาม

ข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างที่เปรียบเทียบให้เห็นว่าเราควรจะจัดกิจกรรมอย่างไรให้อยู่ในขอบเขตอิสลาม ส่วนวิธีการรูปแบบนั้นยังสามารถปรับปรุงพัฒนาได้อีกมาก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาสายสามัญของบุคลากรในองค์กร บวกกับความเข้าใจในหลักการอิสลาม ที่จะผสมกันแล้วแปรออกมาเป็นกิจกรรมที่ถูกต้อง

กิจกรรมในรูปแบบอิสลาม สามารถคิดทำได้อย่างกว้างขวาง รูปแบบการบรรยายเราอาจปรับให้เวทีการนั่งดูสบาย แปลกตา ตกแต่งฉากเวทีให้สวยงามสดใส เสริมสื่อทัศนูปกรณ์ เช่น วีดิโอ สไลด์มัลติวชั่น คอมพิวเตอร์กราฟฟิค การดำเนินรายการให้กระชับ น่าติดตาม การพัฒนาพิธีกร สร้างวิทยากรที่มีคุณภาพ เทคนิคต่างๆในทางสากลเราสามารถนำมาปรับใช้ในกิจกรรมของอิสลามได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มเสน่ห์ของกิจกรรม และการจัดรายการต่างๆ
http://www.kmitl.ac.th/msc/web_page/arcticle/arcticle_13.htm


การศึกษาตามทัศนะของอิสลาม




ด้วยพระนามของอัลลอฮ ผู้ทรงเมตตาปราณีเสมอ



บรรดาสิ่งที่อัลลอฮสร้างขึ้น ชีวิตมนุษย์แตกต่างไปจากสรรพสิ่งอย่างอื่นอย่างเห็นได้ชัด มนุษย์มีสาระ2 ประการ คือ ทางชีววิทยากับสังคมวิทยา สาระทางชีววิทยาก็คือ มนุษย์ดำรงรักษาและถ่ายทอดโดยการผสมพันธุ์และให้กำเนิด ส่วนสาระทางสังคมของชีวิตมนุษย์ก็คือ ดำรงและถ่ายทอดโดยการศึกษา "แล้วการศึกษาคืออะไรเล่า?" นี่เป็นคำถามเบื้องต้นที่เป็นเครื่องฝึกฝนจิตใจของนักปรัชญาและนักคิดทั้งหลายตั้งแต่โสคราตีส เพลโต อริสโตเติล เรื่อยลงมาถึงยุคของจอร์น ดิวอี้ บอกตรงๆว่าคำว่า "การศึกษา" นี้มีความหมายกว้างขวางและให้คำจำกัดความเหมาะเจาะอย่างยิ่ง นักชีววิทยา นักบวช นักจิตวิทยา นักปรัชญา นักการศาสนา รัฐบุรุษ ครู พ่อค้า คนขายของ หรือแม้แต่ช่างศิลป์ ต่างให้คำจำกัดความแตกต่างกันมากพลโต กล่าวว่า"การศึกษา" คือ "การพัฒนาของร่างกายและวิญญาณในความงามและสมบูรณ์ทุกประการเท่าที่เขาสามารถกระทำ"อริสโตเติล กล่าวว่า "การศึกษาพัฒนาคุณวุฒิความสามารถของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางจิตใจ เพื่อว่าคนสามารถชื่นชมความจริง ความงาม ความดี อันเป็นความสุขที่สมบูรณ์ที่สุด"
จอร์น ดิวอี้ ให้ความหมายการศึกษาไว้ว่า "เป็นการพัฒนาการความสามารถทุกอย่างในแต่ละบุคคลที่พึงทำให้เขาควบคุมสิ่งแวดล้อม และเติมความพึงพอใจให้เขา"ส่วนคำโบราณของไทยมีกล่าวว่า "การศึกษาทำให้ปัญญาแตกฉานดั่งหญ้าแพรก แหลมคมดั่งเข็ม มีความรู้มากดั่งเมล็ดมะเขือ และคงความจำในความรู้นั้นดั่งเกลือรักษาความเค็ม"
ผู้เขียนเป็นผู้น้อย ไม่บังอาจล่วงเกินไปสรุปว่า คำจำกัดความของใครเหมาะเจาะกว่าหรือสมเหตุสมผลกว่า แต่เพื่อให้เรามาเข้าใจความหมายการศึกษามากขึ้น ผู้เขียนจะ
ขออธิบายคำว่า การศึกษาทางนิรุกติศาสตร์

คำอธิบายทางนิรุกติศาสตร์ว่าด้วยการศึกษา
คำว่า "การศึกษา" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม ส่วนภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Education" ซึ่งมาจากภาษาลาตินว่า "Educare" หมายความว่า การเลี้ยงดู ดังนั้นคำว่า EDUCAT,NUTRIX, INSTITUIT, PAEDAGOGUS, DOCITMAGISTER หมายความว่า "แม่เป็นผู้ให้กำเนิด แม่นมเป็นผู้กล่อมเกลี้ยงถนอม ครูฝึกเป็นผู้ฝึกฝน ครูเป็นผู้สอน"นักทฤษฎีบางท่านให้คำอธิบายว่า EDUCATE ต่างไป คำว่า E หมายความว่า "ออกจาก"และคำว่า DUCO หมายความว่า "นำ" คำว่า EDUCATE จึงหมายความว่า "การนำออกมา" หรือ "การดึงออกมา" ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดในตัวมนุษย์ หรืออาจอธิบายสรุปได้ว่า ความรู้ทั้งหลายมีติดตัวเด็กมาแต่กำเนิด เพียงหาวิธีดึงเอาปัญญาและความรู้ทั้งหลายให้หลั่งไหลออกมาเขียนถึงตอนนี้ หากจะร่ายยาวถึงทัศนะทางการศึกษาของนักคิดต่างๆ หรือทางนิรุกติศาสตร์ให้ละเอียดยิบ ผู้เขียนคิดว่า เดี๋ยวจะยืดเยื้อคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงขอเข้ารื่องเกี่ยวกับการศึกษาตามทัศนะของอิสลามดีกว่า ทั้งนี้ เพื่อผู้อ่านจะได้เบิกสายตาดูมุมมองทางการศึกษาว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร


ที่มาของการศึกษาในทัศนะอิสลาม

อิสลามไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ความรู้ทั้งหลายมีติดตัวเด็กมาแต่กำเนิด และก็ไม่เห็นด้วยกับทัศนะที่ว่าความรู้นั้นมาจากมนุษย์ แต่ทว่าอิสลามถือว่า ความรู้นั้นมาจาก
อัลลอฮ ฉะนั้น แน่นอนว่าการศึกษาอย่างแรกที่มนุษย์จะต้องแสวงหาคือ การรู้จักอัลลอฮหรือศึกษาหาความรู้ที่มาจากอัลลอฮ พูดง่ายๆคือ อิสลามเน้นการศึกษาเพื่อให้ผูกพันกับอัลลอฮก่อน และการศึกษาเพื่อให้ผูกพันดังกล่าวนั้นจะต้องผ่านกระบวนการขัดเกลาทางศีลธรรม และอบรมทางจิตวิญญาณ กล่าวคือ แต่ละบทเรียนจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมก่อน ทั้งนี้เพราะศีลธรรมเป็นอุดมการณ์เบื้องต้นของการศึกษาในอิสลาม

ผู้อ่านครับ...ผู้อ่านจะเห็นได้อย่างชัดเจนนะครับว่าที่มาของการศึกษาในทัศนะอิสลามแตกต่างจากที่มาของการศึกษาในทัศนะอื่นอย่างขาวกับดำ นอกจากนั้น อิสลามม
ีทัศนะว่า การศึกษาที่ถูกต้องนั้นต้องมีเป้าหมายชัดเจน เพราะหากไร้จุดเป้าหมายแล้วไซ้ร ก็หามีประโยชน์ไม่ในการศึกษา

เป้าหมายของการศึกษาในอิสลาม

เป้าหมายแรก รู้จักอัลลอฮก่อน อย่างอื่นว่ากันทีหลัง การศึกษาหรือเรียนรู้เพื่อให้รู้จักอัลลอฮ คือ เป้าหมายแรกของอิสลาม ทั้งนี้เพราะอัลลอฮคือพระเจ้า และผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง เมื่อรู้จักอัลลอฮแล้วสิ่งที่จำต้องศึกษาต่อมาก็คือศาสนาของอัลลอฮและศาสนาของอัลลอฮก็คืออิสลามนั่นเอง ซึ่งการศึกษาและเข้าใจอิสลามนี้สำคัญมากดั่งท่านร่อซูล (ซ.ล) ได้กล่าวว่า "ใครที่อัลลอฮทรงปราถนาเขาด้วยความดี พระองคก็จะให้เขาเข้าใจศาสนา"

อิหม่ามฮะซัน อัล-บันนา กล่าวว่า "สิ่งแรกที่นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ก็คือได้รู้จักศาสนาของอัลลอฮ" และในที่นี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างถึงหลักสูตรการศึกษาในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมาก อย่างเช่น ในประเทศซาอุดิอารเบียจะพบว่าหลักสูตรการศึกษาชั้นประถมของซาอุฯ จะเน้นเรื่องการรู้จักอัลลอฮและรู้จักศาสนาของอัลลอฮ

เป้าหมายที่สอง รู้จักอัลลอฮก็ต้องมีศีลธรรมด้วย เพียงรู้จักอัลลอฮ แต่ไร้ศีลธรรมถือว่าไม่ถูกต้องในทัศนะของการศึกษาในอิสลาม กล่าวคือ การศึกษาเพื่อฝึกฝนและขัด
เกลาทางศีลธรรมเป็นเรื่องจำเป็น นักศึกษาทุกคนจำเป็นต้องมีคุณธรรมประจำใจ และทราบถึงเป้าหมายของนักศึกษาในการหาความรู้นั้น ต้องไม่ใช้เพื่อการหาอำนาจเงินทองความรุ่งเรือง โอ้อวด หรือแข่งขันกับคนอื่น แต่ทว่า ต้องศึกษาเพื่อขัดเกลาตนเองให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ขออ้างคำพูดของอิหม่ามฆอซาลี ที่ว่า "เป้าหมายของการศึกษานั้น คือการเข้าใกล้อัลลอฮโดยปราศจากความยะโสโอหัง"

เป้าหมายที่สาม เอาโลกนี้และโลกหน้า แต่โลกหน้าคือบั้นปลาย มุมของอิสลามในเรื่องการศึกษามิใช่ทัศนะที่แคบตีบสมองลีบ ด้วยเพียงแค่เจาะจงให้ศึกษาเฉพาะทางธรรมหรือทางโลกทางใดทางหนึ่ง แต่อิสลามเรียกร้องให้ทุกคนศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลกควบคู่กันไป ดั่งคำกล่าว "จงทำงานเพื่อชีวิตในโลกนี้เหมือนกับว่าท่านจะไม่ตาย และจงทำดีเพื่อโลกหน้าเสมือนดั่งว่าท่านจะตายในวันพรุ่งนี้" หรือแม้แต่อุอาอที่มุสลิมมักขอพรเสมอก็ยังขอทั้งสองโลกในเวลาเดียวกัน ดังคำดุอาอที่ว่า "พระผู้อภิบาลของเรา ขอทรงโปรดให้ความดีแก่เราในโลกนี้และโลกหน้า และปกป้องเราจากการลงโทษของไฟนรก"สรุปแล้ว อิสลามให้สนใจหรือศึกษาเรื่องราวของโลกนี้และโลกหน้า แต่ทว่า
โลกหน้านั้นคือบั้นปลาย

เป้าหมายที่สี่ การศึกษานั้นต้องมีประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมเพื่อร่วมกันทำอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ อิสลามไม่ได้บอกให้ศึกษาหาความรู้ที่ไร้ประโยชน์ หรือเน้นแค่ตัวเขาโดยไม่มอบอะไรให้ต่อสังคมส่วนรวม แต่อิสลามเน้นถึงความรู้ที่มีประโยชน์ดังคำดุอาอที่ร่อซูล (ซ.ล) ได้เคยกล่าวว่า "โอ้อัลลอฮ ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์จาก
ความรู้ที่ไร้ประโยชน์"

นอกจากนั้นอิสลามยังส่งเสริมให้ทุกคนศึกษาหาความรู้เพื่อส่วนรวมด้วย ซึ่งผู้เขียนขออ้างคำกล่าวของนักเขียนตะวันตกท่านหนึ่งที่ให้ทัศนะเห็นด้วยในเรื่องนี้ คือมอนโร (The History of Education) ว่ามุสลิมได้มีบทบาทสำคัญในด้านการแพทย์ การผ่าตัด เภสัชศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ พวกเขาได้ประดิษฐ์ลูกตุ้มนาฬิกา และสอนชาวยุโรปให้รู้จักเข็มทิศและดินปืน

กล่าวให้ชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การศึกษาของอิสลามนั้น นอกจากจะเน้นในเรื่องศาสนา ศีลธรรมจิตใจ หรือมีประโยชน์ต่อตัวเองแล้ว แต่การศึกษานั้นจะต้องมีส่วนประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาสังคมส่วนรวมด้ว เป้าหมายที่ห้า ศึกษาสายอาชีพทางเทคนิคและอุตสาหกรรมเพื่อการเลี้ยงชีพ อันจะนำไปสู่การเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ การศึกษาของอิสลามไม่ได้ปล่อยปละละเลยที่จะไม่ยอมสนับสนุนให้มนุษย์มีความสามารถในการประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอดชีวิตเขา แต่แท้จริงแล้วอิสลามส่งเสริมให้ศึกษาสายอาชีพด้วย ซึ่งเรื่องนี้ อิบนุสินา ได้กล่าวว่า "เมื่อเด็กจบการศึกษาอัล-กุรอ่านและภาษาศาสตร์แล้ว เขาควรจะได้เสาะแสวงหาอาชีพที่เขาปราถนาจะมุ่งไปทางนั้น..." กล่าวคือเขาควรจะฝึกอาชีพจนกว่าเขาจะมีงานทำโดยสุจริตตามแนวทางของศาสนาและศีลธรรมอันดี แม้อิสลามจะถือว่าศีลธรรมต้องมาก่อน แต่ก็มิใช่ว่าอิสลามละเลยในเรื่องการฝึกอาชีพเพื่อแสวงหาปัจจัยยังชีพ เป้าหมายที่หก อย่าเก็บงำความรู้ แต่ต้องเผยแพรด้วย อิสลามต้องการให้ทุกคนศึกษาหาความรู้มาปฏิบัติและเผยแพร่ความรู้ออกไปดังคำกล่าวของท่านร่อซู้ล (ซ.ล) ที่กล่าวว่า "จงเผยแพร่จากฉัน แม้เพียงโองการเดียว"
ขณะเดียวกัน อิสลามก็ไม่ได้หยุดยั้งแต่เพียงเรียกร้องให้ผู้ศึกษาหาความรู้ และเผยแพรความรู้ออกไปเท่านั้น แต่ยังให้เขาศึกษาค้นคว้าต่อไปอีก ดังคำกล่าวที่ว่า "มนุษย์จะไดรับความรู้ตราบเท่าที่เขาแสวงหาความรู้ ถ้าหากเขาคิดว่าเขามีความรู้ทุกอย่างแล้ว เขาก็จะกลายเป็นผู้ที่โง่เขลา

http://www.kmitl.ac.th/msc/web_page/arcticle/arcticle_3.htm

นกและผึ้งในอัลกุรอ่าน
ในระยะหลัง ๆ นี้ พฤติกรรมต่าง ๆ ของสัตว์ได้รับการศึกษาค้นคว้าโดยละเอียด จนในที่สุดก็สำรวจพบว่าในจำพวกสัตว์นั้นมีหมู่คณะโดยแท้จริง ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า การศึกษาถึงผลลัพธ์ของการปฏิบัติหน้าที่ในหมู่คณะ คือสิ่งที่ทำให้ผู้ค้นคว้ายอมรับว่ามีการจัดระบบในหมู่สัตว์ แต่รายละเอียดของสัตว์บางจำพวกเพิ่งถูกสำรวจค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เอง ตัวอย่างจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน ที่ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของนกและผึ้ง ดังโองการต่อไปนี้

“พวกเขามิได้มองดูนกดอกหรือ บินอยู่ใต้อำนาจ (ของอัลอฮฺ บินคว้าง) ท่ามกลางท้องฟ้า ไม่มีผู้ใดรั้งมันไว้ นอกจากอัลลอฮฺ แท้จริงในนั้นมีสัญญาณ แน่นอนสำหรับประชาชนผู้ศรัทธา” ซูเราะฮฺ อัลนะหฺลุ (16:79)
ณ ที่นี้ เราสามารถศึกษาโองการที่แสดงว่าพฤติกรรมของนกมีความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับอำนาจแห่งองค์อภิบาล ผนวกกับวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งได้เผยถึงการจัดเวลาของนกในการเดินทางว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สมบูรณ์ ฉะนั้น การจัดเวลาดังกล่าวจึงได้ถูกบันทึกไว้ในตารางของภาควิชาชีววิทยา ที่ว่าด้วยพฤติกรรมของสัตว์อันเป็นวิธีเดียวที่สามารถอธิบายถึงเหตุผลการเดินทางของนกตัวเล็ก ๆ ไปยังสถานที่ ๆ ไกลแสนไกล โดยไม่มีการทดลองล่วงหน้ามาก่อนและไม่มีผู้พาไป แล้วก็กลับมายังถิ่นฐานเดิมในเวลาที่กำหนดไว้ อาจารย์แฮมเบิร์ก ได้ยกตัวอย่างนกบริเวณแถบมหาสมุทรแปซิฟิก เรียกกันว่า Motton Bird มันจะเดินทางไปสู่แดนไกลถึง 25,000 กม. มันจะเดินทางไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน แล้วจะกลับมาที่เดิมตามกำหนดหนึ่งสัปดาห์เป็นอย่างช้า และสิ่งที่ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบันนี้ คือการนำทางอันสลับซับซ้อนในการเดินทางของนก ได้ถูกบันทึกไว้ในเซลล์ประสาทของมัน ผู้ใดเล่าเป็นผู้วางแผน และระบบที่ว่านี้ให้มัน?
ส่วนโองการที่เกี่ยวกับผึ้งมีดังนี้


“และพระผู้อภิบาลของเจ้าทรงบันดาลแก่ผึ้ง จงทำรังตามภูผา และตามต้นไม้ และตามที่พวกก่อร้านขึ้น แล้วจงกิน (ดูด) จากผลไม้ทั้งมวล แล้วจงดำเนินตามทางพระผู้อภิบาลของเจ้าโดยถ่อมตัว มีเครื่องดื่ม (น้ำผึ้ง) หลากสี (กลิ่น) ออกมาจากท้องของมัน ในนั้น (มีตัวยา) ที่บำบัดสำหรับปวงมนุษย์ แท้จริงในนั้นมีสัญญาณสำหรับประชาชาติผู้ตรึกตรองอย่างแน่นอน” ซูเราะฮฺ อัลนะหฺลุ (16:68-69)
สิ่งที่เราสามารถกล่าวได้ ณ ที่นี้ โดยยึดถือวิทยาการที่เรามีอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับพฤติกรรมของผึ้ง ก็คือ ในตัวมันมีระบบประสาทที่น่าอัศจรรย์ยิ่งอันเป็นฐานของพฤติกรรมดังกล่าว ผึ้งมีวิธีการโต้ตอบโดยแสดงออกจากการเต้น มันสามารถรู้ถึงทิศทางและระยะทางที่จะโบยบินไปดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ในการทดลองเกี่ยวกับพติกรรมของผึ้งนี้ ทำให้ “วอนฟริช ลอเรนซ์ และ ทินเบอร์เกน” ได้รับรางวัลโนเบล ในปี ค.ศ. 1973
ตัวอย่างที่ประจักษ์ชัด และภาพที่เห็นกันอยู่จนเคยชิน ซึ่งได้ยืนยันต่อสัตววิทยา และศาสตร์ที่ว่าด้วยสัตว์ปีกนั้นมีอยู่ดาษดื่น วิศวกรรมที่ผึ้งใช้ทำรังของมันนั้นเป็นแบบที่สร้างได้ยากที่สุด ดร. เรด ได้กล่าวว่า “แน่นอนมีเพียงสามแบบเท่านั้นสำหรับการสร้างห้องขึ้นทำให้แต่ละห้องเท่ากัน ได้สัดส่วนกัน โดยไม่มีที่ว่างอันเปล่าประโยชน์ระหว่างห้องเหล่านั้น แบบเหล่านี้ได้แก่ สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยม และหกเหลี่ยมด้านเท่า ซึ่งนับว่ามีคุณภาพดีที่สุด และยากที่สุดในการสร้าง แต่ผึ้งก็สร้างรวงรังของมันด้วยรูปแบบหกเหลี่ยมนี้”
นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งได้ศึกษาค้นคว้าถึงมุมที่พื้นมาบรรจบกันโดยประหยัดเนื้อที่อย่างมาก เขาพบว่า เป็นมุมที่พื้นของรังผึ้งมาบรรจบกันนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิทยาศาสตร์บางท่าน ได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าหากมีมนุษย์ต่างดาวบินมาสู่โลกเรา และได้ถามถึงสิ่งประดิษฐ์ของกระบวนแห่งชีวิตที่สมบูรณ์ที่สุด เราไม่มีทางเลี่ยงนอกจากโชว์รังผึ้งเล็ก ๆ ที่ผึ้งได้สร้างขึ้น"
ด้วยวิวัฒนาการทางสุขศึกษา แพทย์ศาสตร์ และโภชนาการศาสตร์ ทำให้ทราบว่าน้ำผึ้งนั้นมีตัวยาบำบัดโรคสำหรับมนุษย์ วิทยาการสมัยใหม่ได้รายงานว่า น้ำผึ้งนั้นเป็นอาวุธของนายแพทย์ที่ใช้เยียวยารักษาโรคนานาชนิด การใช้น้ำผึ้งจะทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ ในการบำบัดโรคได้ทั้งรับประทานและฉีด หรือใช้เป็นตัวเสริมสร้างพลัง และหล่อเลี้ยง จึงช่วยให้ร่างกายหายป่วย บางครั้งใช้ป้องกันพิษที่เกิดจากสารภายนอก เช่น สารหนู ธาตุปรอท ยาสลบ หรือพิษที่เกิดจากโรคในอวัยวะของร่างกาย เช่นพิษในปัสสาวะที่เกิดจากโรคตับ โรคกระเพาะ โรคลำไส้ อาการไข้ต่างๆ ออกหัด ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ อาการที่เกิดจากไตอักเสบ โรคโลหิตคลั่งในสมอง และโรคเบาหวาน ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ยังคงค้นคว้าการบำบัดโรคใหม่ๆ ด้วยน้ำผึ้งอยู่ทุกวี่ทุกวัน จนในที่สุดนายแพทย์แผนกศัลยกรรมผู้อาวุโสท่านหนึ่งของอังกฤษ ท่านได้ใช้น้ำผึ้งปิดรอยแผลที่ทำการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ปรากฏว่า น้ำผึ้งจะช่วยสมานแผลได้รวดเร็ว และลบรอยแผลเป็นอีกด้วย ในน้ำผึ้งมีสารที่ช่วยให้เยื่อผิวหนังของมนุษย์เจริญขึ้นมาเพื่อสมานแผลให้อยู่ในระดับเดียวกัน
นี่คือการยืนยันและสนับสนุนการเป็นศาสดาของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้รับความรู้เกี่ยวกับน้ำผึ้งมาจากไหนเมื่อ 1,400 ปี ในอดีตที่ผ่านมา แต่วิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เอง ซึ่งต้องใช้ขั้นตอนต่างๆในการสำรวจ และเครื่องมือในการวิจัยและวิเคราะห์? และทำไมอัลกุรอ่านจึงได้ระบุไว้ว่า “มีเครื่องดื่มหลากสี ออกมาจากท้องของมัน” โดยไม่ใช้คำว่า “มีน้ำผึ้งหลากสี ออกมาจากท้องของมัน?”
ถ้าหากเราค้นคว้าอย่างจริงจัง เราจะได้ผลลัพท์ทางวิทยาศาสตร์ การที่อัลกุรอ่านระบุว่า “เครื่องดื่ม” ก็เพื่อจุดประสงค์ที่จะมิให้จำกัดเฉพาะน้ำผึ้งเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันนี้วงการวิจัยได้รายงานว่าผึ้งนั้นมีเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ออกมาจากท้องของมันแต่ไม่ใช่น้ำผึ้ง มันมีประสิทธิภาพในการบำบัดโรคมากกว่าน้ำผึ้งหลายสิบเท่า และยังได้พบอีกว่าผึ้งยังได้ขับถ่ายสารพิษออกมาจากเขี้ยวของมัน และได้นำมาใช้ในการบำบัดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคปวดในข้อ (โรมาติซัม) โรคปวดสะเอวและหลัง และอาการปวดตะโพก เป็นต้น
ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ก็คือ โรงพยาบาลต่างๆ ในสหรัฐเมอริกา กลุ่มยุโรป และสหภาพโซเวียต ได้หันมาใช้พิษของผึ้งโดยกายภาพบำบัดวิธี กล่าวคือ ให้ผึ้งต่อยตามบริเวณที่มีอาการของโรค ที่ประชุมของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาผึ้ง ได้ประกาศการค้นพบครั้งใหญ่ว่ามีเครื่องดื่มชนิดหนึ่งออกมาจากท้องของผึ้ง เรียกว่า “น้ำนมผึ้ง” ซึ่งมีเพียงไม่กี่หยด ในระยะเวลาที่ห่างกัน น้ำนมผึ้งนี้อาจทำให้ความฝันของมนุษย์กลายเป็นความจริงขึ้นมา เพราะมันได้ประมวลสารที่มีคุณค่าอนันต์ต่อร่างกายมนุษย์ และมีประสิทธิภาพสูง สามารถฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ได้รวดเร็วและเด็ดขาด
ดังที่ทราบแล้วว่า อัลกุรอ่านได้บันทึกไว้ในโวหารอันละเอียดอ่อนว่า จะมีเครื่องดื่มที่หลากสีออกมาจากท้องของผึ้ง ถ้าหากวลีที่ว่า “หลากสี” หมายถึง แสงสะท้อนที่แยกออกจากเงาวัตถุ ดังนั้นน้ำผึ้งก็มีสีต่างๆ เช่นกัน และถ้าหากว่า “หลากสี” หมายถึงความต่างศักย์ของสาร แน่นอนเครื่องดื่มที่ออกมาจากท้องของมันก็มีความแตกต่างกันเช่นกัน เพราะมีทั้งน้ำผึ้ง อาหาร นางพญาผึ้ง สารพิษ และน้ำนม
ดังนั้น คำศัพท์เดียว (เครื่องดื่ม) ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน จึงได้ครอบคลุมถึง “การสร้างสรรค์” ที่มนุษย์ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ และ “ความมหัศจรรย์” ที่เร่งเร้าจิตสำนึก และมโนคติของศรัทธาชน และผู้ใฝ่สัจธรรม หลังจากนี้แล้ว ท่านยังต้องการสิ่งใดอีกที่แสดงว่า อัลกุรอ่านเป็นพจนารถแห่งองค์อภิบาลที่ได้ถูกประทานให้กับท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม http://www.kmitl.ac.th/msc/web_page/arcticle/arcticle_5.htm

หนุ่มสาว คลื่นลูกใหม่ของสังคม

อัลลอฮฺ ซ.บ.ทรงบังเกิดมนุษย์มาในลักษณะที่งดงามยิ่ง ทรงประทานสติปัญญาและความรู้เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิต อีกทั้งเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสุขเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป ในช่วงวัยต่าง ๆ ของมนุษย์ วัยหนุ่มสาวนับว่าเป็นวัยสำคัญที่สุดของชีวิต เพราะโดยมากผู้ที่อยู่ในวัยนี้มักจะพบกับการท้าทายทดสอบนานาประการ มีการพัฒนาทางร่างกายสูงสุด และถือว่าเป็นกลไกหลักของสังคม

ศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงสภาพการสอบสวนในวันปรภพว่า "อัลลอฮฺ ซ.บ. จะทรงตรัสถามอายุของเจ้าว่าได้ใช้ไปในทางใดบ้าง และความเป็นหนุ่มของเจ้านั้นใช้ไปอย่างไร" จากวจนะข้างต้นนี้ชี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของวัยสังขาร การดำเนินบทบาทชีวิตในแต่ละวันจะต้องมีความรอบคอบและรับผิดชอบ เพราะความเป็นหนุ่มเป็นสาวของเรานั้นมีพลังและคุณค่ามหาศาล ซึ่งถ้าหากได้ใช้ให้ถูกจุดและตรงตามเป้าหมายที่อิสลามได้วางไว้ ก็จะเกิดผลประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมอย่างประมาณค่ามิได้

หนุ่มสาวบนเส้นทางแห่งการต่อสู้

ในสังคมที่สับสนและแปรเปลี่ยนไปทุกขณะ หนุ่มสาวส่วนหนึ่งได้อุทิศชีวิตตนเองไว้บนเส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเชื่อมั่น ทระนงและอดกลั้น อย่างเช่นใน อิหร่าน ปาเลสไตน์ เลบานอน หรืออัฟกานิสถาน พวกเขากำลังเขียนประวัติศาสตร์ให้แก่โลกด้วยหยดหมึกแห่งสายเลือด ขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้ทุ่มเทชีวิตให้กับความชั่วร้ายที่สวนทางศีลธรรม แข่งขันประชันชีวิตอยู่บนหนทางหายนะอย่างเต็มอกเต็มใจ มอบตนตกเป็นทาสแฟชั่นและความนึกคิดที่ตะวันตกมอมเมา เคลิบเคลิ้มใหลหลงไปกับละอองไอสิ่งเสพติด และระริกระรี้สัมผัสทางเพศอย่างเสรี เพียงเพื่อสนองตัณหาอารมณ์ที่แทบไม่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานเท่าใดนัก

หากเราจะมองไปสู่อดีดเมื่อครั้งยุครุ่งอรุณแห่งอิสลาม หนุ่มสาวมากมายสละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องอิสลามด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธามั่น บุคคลอย่าง อะลีอิบนิอบีตอลิบ ฮัมซะห์ อัมรฺ บิล้าล อุซามะห์ หรือ อัสมะอ์ ท่านเหล่านี้แหละที่ประกาศความห้าวหาญและสละชีวิตร่วมเป็นร่วมตายเพื่ออิสลาม

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงคนหนึ่งที่มีความศรัทธาอย่างแรงกล้า ซึ่งพวกเขาพาตัวเองไปหลบอยู่ในถ้ำบนภูเขาลูกหนึ่ง เพราะไม่ปรารถนาจะอยู่ในห้วงอบายมุข ภายใต้การปกครองผู้อธรรม






“(จงรำลึกถึงเวลา) เมื่อพวกชายหนุ่มไปหลบอยู่ในถ้ำ แล้วพวกเขากล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเราได้ทรงโปรดประทานความเมตตาจากพระองค์แก่เรา และได้ทรงโปรดเตรียม (คำแนะนำ) เพื่อเราในกิจกรรมของเราซึ่ง(ทาง) ทำนองคลองธรรม ดังนั้นเราจึงอุดหูของพวกเขา (ให้หลับพักผ่อน) ในถ้ำเป็นจำนวนหลายปี (ไม่ให้ได้รบกวนจากภายนอก) แล้วเราจึงให้พวกเขาลุกขึ้น เพื่อเราจะได้รู้ว่าผู้ใดในสองพวกนั้นนับเวลาที่พวกเขาพำนักอยู่(ในถ้ำนั้นว่านานเท่าใด) เราจะเล่าแก่เจ้า(มุฮัมมัด) ซึ่งในเรื่องราวของพวกเขาตามจริง แท้จริงพวกเขาคือหมู่ชายหนุ่มผู้ศรัทธาในพระผู้อภิบาลของพวกเขา”
(อัล-กะฮฺฟิ อายะห์ที่ 10-13)

สู่การพัฒนาอย่างจริงจัง

ท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า “มุสลิมที่ดีที่สุดคือบุคคลที่ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์” หนุ่มสาวก็เช่นกัน จะต้องตระหนักเสมอว่าชีวิตของตนเองในแต่ละวันจะต้องสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวม เพราะแม้แต่ใบไม้ที่ร่วงหล่นโรยปลิวลงสู่พื้นดิน มันยังสามารถเป็นประโยชน์ต่อพันธุ์พืชได้ ฉันใดก็ฉันนั้นมือทั้งสองข้างของเราก็สามารถจะสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่สังคมได้เช่นกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งพัฒนาตนเองคือ ฝึกฝนจิตใจให้เป็นผู้นำ มีหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่กล้าจะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น นำสู่การซุหยูดต่ออัลลอฮฺเมื่อถึงเวลา ไม่กล้าพูดเรื่องของอิสลามที่ย่อมขัดแย้งกับอารมณ์เหตุผลส่วนตัว ไม่กล้าที่จะแสดงออกในเรื่องคุณธรรมความดีงามต่าง ๆ หากเราไม่รีบพัฒนาเสียตั้งแต่วันนี้แล้ว ภายภาคหน้าครอบครัวและสังคมของเราจะสับสนและขาดความผาสุกเพียงใด

สังคมหน้าที่ที่จะต้องเสริมสร้าง

หลายคนยังเข้าใจว่า “การญิฮาด” นั้นทำได้เพียงในสนามรบเท่านั้น ทั้งที่การทำความดีและทำมาหากินโดยสุจริต การทำประโยชน์แก่ส่วนรวมเหล่านี้ก็เป็นการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺเช่นกัน

มีหนุ่มสาวมากต่อมากแล้วที่ทิ้งชีวิตของตนไว้ตามข้างถนน ไม่ได้สร้างสรรค์คุณความดีใด ๆ ไว้ให้กับสังคม ตรงกันข้ามพวกเขาได้ผูกปมปัญหาให้กับสังคมหลายหลาก จนกลายเป็นความเสื่อมโทรมสืบทอดกันต่อมา หนุ่มสาวที่ยังยืนอยู่บนถนนชีวิตก็ควรตระหนักในข้อนี้ และจงหันมาเป็นผู้ให้แก่สังคมมากกว่าที่จะคอยรับ และทำลายส่วนรวมโดยไม่รู้ตัว

ในเรื่องการทำงานเพื่อสังคมบางครั้งก็สำเร็จสมหวัง บางคราวพลาดพลั้งไป จงอย่าหมดกำลังใจที่จะทำงานเพื่อพระองค์ต่อไป เพราะนั้นย่อมเป็นการทดสอบที่อัลลอฮฺ ซ.บ. ได้ทรงเตือนใจเราไว้ว่า

“และจงอย่าท้อแท้ และจงอย่าระทม และสูเจ้าจะเหนือกว่าถ้าสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา"

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะปฏิวัติตัวเอง เลิกเสียทีกับสิ่งที่ผิดพลาดมาแล้วในอดีต สิ่งที่เราหลงอยากจะกระทำตามอารมณ์ชั่วของตัวตน หันมาทำความดีมอบตนต่ออัลลอฮฺ ซ.บ. ลุกขึ้นต่อสู้ด้วยความอดทน ความหวัง และความเข้มแข็ง ด้วยดวงใจที่เปี่ยมล้น ความตักวายำเกรง เพราะหากหนุ่มสาวมุสลิมยุคใหม่ท้อแท้สิ้นหวัง ไร้ความอดทน หลงลืมอัลลอฮฺ ซ.บ แล้วประวัติศาสตร์หน้าต่อไปใครจะเป็นผู้เขียน.
http://www.kmitl.ac.th/msc/web_page/arcticle/arcticle_14.htm